การทางพิเศษ ก้าวสู่ 52 ปี อย่างเชื่อมั่น พร้อมรับรางวัล “รัฐวิสาหกิจดีเด่น” เร่งพัฒนาโครงการสู่การควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เข้ารับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2567 ประเภทรางวัล การพัฒนาองค์กรดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ตอกย้ำภาพลักษณะองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนา และปรับสถานะขององค์กรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลอดระยะเวลากว่า 52 ปี องค์กรได้เปิดให้บริการทางพิเศษไปแล้ว 8 สายทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 224.6 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน และได้มีการพัฒนาการให้บริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass มาใช้ช่วยให้ผู้ใช้ทางพิเศษได้รับความสะดวกรวดเร็วในการผ่านทาง และพัฒนาไปสู่ระบบเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น M-Flow ร่วมกับ กรมทางหลวง รวมถึงการขยายโครงข่ายทางพิเศษออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และต่างจังหวัด นับเป็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนทำให้ได้รับรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นในครั้งนี้
ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ความมั่นใจว่า กทพ. จะยังคงพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ทางพิเศษเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต คนไทยอย่างยั่งยืน และจะไม่จำกัดอยู่แค่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเท่านั้น เพราะคำว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พวกเราพร้อมก้าวออกไปแก้ไขปัญหาจราจร และอำนวยความสะดวกในการเดินทาง ให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ในโอกาสก้าวผ่านเกินครึ่งศตวรรษ สู่ปีที่ 52 ด้วยคำจำกัดความว่า ก้าวย่างอย่างมั่นใจ นำเส้นทางใหม่สู่ภูมิภาค
ทั้งนี้ กทพ. มีโครงการสำคัญเร่งด่วนที่กำลังดำเนินการ 3 โครงการ คือ
- โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร กำหนดเปิดให้บริการภายในต้นปี 2568
- โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างดำเนินการหาผู้รับจ้างดำเนินการ
- โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวน รอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร
นอกจากการให้บริการทางพิเศษ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กทพ. ยังได้มีแผนพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษในจังหวัดภูมิภาค ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะที่ 1 (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 17 กิโลเมตร โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 30 กิโลเมตร รวมถึงโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการทางพิเศษเกาะแก้ว จังหวัดตราด ที่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ
โดยวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา กทพ.ได้ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่3 เพื่อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 เบื้องต้นกทพ.ได้เลือกแนวทางก่อสร้างเป็นรูปแบบโครงสร้างอุโมงค์ ใช้วงเงินก่อสร้างประมาณ 50,000 ล้านบาท สำหรับแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณจุดตัดระหว่างทางพิเศษศรีรัช ถนนงามวงศ์วาน มุ่งหน้าไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน ลอดผ่านแยกพงษ์เพชร ถนนวิภาวดีรังสิต แยกเกษตร วิ่งเข้าถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 มีระยะทางประมาณ 6.7 กิโลเมตร
และจะเคาะรูปแบบ และฟังเสียงของประชาชนว่าเห็นด้วยตามที่ กทพ.เสนอหรือไม่ จากนั้นกทพ.จะประมวลข้อคิดเห็นต่างๆเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป รวมถึงยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทั้งรายงานผลกระทบด้านิสิ่งแวดล้อม การเวนคืนที่ดินและขออนุมัติก่อสร้างโครงการอีก ตามแผนที่กำหนดไว้ คาดว่าจะเริ่มสร้างในปี 2569-2574