SCB บันทึกประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ผนึกจูเลียส แบร์ ดันลูกค้าลงทุนตปท.

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวในงานเปิดตัวร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ และจูเลียส แบร์ กลุ่มธุรกิจบริการไพรเวตแบงกิ้งชั้นนำจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าธุรกิจเวลท์ของไทยแม้จะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆแต่การบริหารความมั่งคั่งของไทยในวันนี้ยังมีข้อจำกัด คือ ยังขาดระบบปฏิบัติการที่ดี ดังนั้นการร่วมมือครั้งนี้จะเข้ามาเพิ่มความสามารถในการให้บริการลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์เผยว่ารูปแบบของบริษัทร่วมทุนบริษัทมีทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท โดยธนาคารถือหุ้น 60 เปอร์เซ็นต์ และจูเลียส แบร์ ถือหุ้น 40เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อจัดตั้งบริษัทดังกล่าวซึ่งจะต้องขออนุญาตทั้งการจัดตั้งบริษัทใหม่ จากธนาคารแห่งประเทศไทยและจัดตั้งบริษัทหลักทรัพย์ จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะจัดตั้งบริษัทเรียบร้อย แต่จะเดินสายหาลูกค้าช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป โดยลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นผู้ที่ต้องการลงทุนขั้นต่ำ 100 ล้านบาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า SCB จะมีธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้าภายใต้ไพรเวตแบงกิ้ง ซึ่งจะเป็นลูกค้าที่มีสินทรัพย์เกิน 50 ล้านบาท แต่ว่าส่วนใหญ่จะกระจายการลงทุนทั้งเงินฝากและกองทุนต่างๆ ที่หลากหลายที่อยู่ในประเทศเป็นหลัก ส่วนบริษัทร่วมทุนใหม่จะมีจุดขายให้บริการออกไปลงทุนในต่างประเทศทั้งหมด

ดังนั้นหากลูกค้าไพรเวตแบงก์ของธนาคารต้องการโยกเข้ามาลงทุนผ่านบริษัทร่วมทุนใหม่นี้ เพื่อหาผลตอบแทนหรือลงทุนแบบใหม่ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้ โดยลูกค้าสามารถแยกพอร์ตลงทุน หรือนำเงินก้อนใหม่มาลงทุน ตลอดจนอาจจะเป็นลูกค้าใหม่ของธนาคารเลยก็ได้

การลงทุนในบริษัทใหม่ถือเป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่มีสินทรัพย์สูงเข้ามาลงทุนเพราะแม้แต่ลูกค้ารายเดิมของเราเขาอาจมาลงทุนกับเราแค่ 50-100 ล้านบาท แต่มีการไปลงทุนที่แบงก์อื่นๆ 900 ล้านบาทก็ได้ ดังนั้นสินทรัพย์ที่ลูกค้ามีอยู่ก็อาจไม่ได้บอกเราหมด ลูกค้าก็อาจย้ายเงินที่มีอยู่เข้ามาลงทุนใหม่กับเราก็ได้ อาจจะมาจากเงินก้อนใหม่หรือเงินก้อนเก่าที่เขามีอยู่ก็ได้ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆในการลงทุน เพราะหากดูกลุ่มมั่งคั่งในประเทศขณะนี้มีกว่า 3 หมื่นคน ซึ่งมีสินทรัพย์ที่ถืออยู่ราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภายใน 5 ปี จะมีสินทรัพย์ภายใต้บริหาร 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 9 แสนล้านบาท   ถือว่าเป็นอีกก้าวของไทยพาณิชย์ที่จะใช้บริษัทร่วมทุนใหม่แห่งนี้ เป็นแรงขับเคลื่อนสู่สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งต้องจับตาต่อไปกับพลังการต่อยอดที่จะเสริมความแข็งแกร่งในข้างหน้า