PRM ปรับแผนจัดการกองเรือสอดรับความต้องการลูกค้า ดันยอดรายได้โต 5 พันล้าน

นายชาญวิทย์ อนัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวทางเรืออย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวทางดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ จะปรับพอร์ตกองเรือให้สอดรับกับทิศทางของอุตสาหกรรมการให้บริการเรือขนส่งน้ำมันทางทะเล และการบริหารจัดการกองเรือและต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการเติบโตและรักษาอัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ดี

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนเสริมทัพกองเรือที่จะเข้ามาประจำการในปีนี้ทั้งหมด 9 ลำ แบ่งเป็น กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์น้ำมันกึ่งสำเร็จรูปและปิโตรเคมีเหลวจากโรงกลั่น จำนวน 6 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 14 ลำ รองรับความต้องการใช้เรือเพื่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นไปยังคลังน้ำมันทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการขนส่งสินค้าประเภทปิโตรเคมี รวมถึงนำมาทดแทนเรือเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานซึ่งจะช่วยลดอายุเฉลี่ยของเรือให้ลดลงอีกด้วย

ขณะที่ธุรกิจขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปหรือ FSU ปัจจุบันมีอยู่ทั้งหมด 7 ลำ จะเพิ่มเรืออีก 1 ลำ ขนาดประมาณ 100,000เดทเวทตัน เพื่อขยายการรองรับการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงแบบใส เช่น ดีเซลและเบนซิน ซึ่งถือเป็นการขยายการให้บริการเพิ่มเติมและทดแทนการให้บริการขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ ส่วนธุรกิจเรือขนส่งที่ให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล หรือ FSO บริษัทมีแผนเพิ่มเรืออีก 2 ลำ จากเดิมที่มีอยู่ 2 ลำ เพื่อรองรับการให้บริการงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเลและให้สอดคล้องกับนโยบายพลังงานของประเทศ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PRM เผยเพิ่มเติมว่า ปีนี้เรามีนโยบายบริหารจัดการกองเรือให้สอดรับทิศทางความต้องการของลูกค้าซึ่งนอกจากการขยายธุรกิจตามแผนงานที่ได้วางไว้ ยังเน้นขยายธุรกิจขนส่งฯที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีจากปริมาณความต้องการใช้บริการเรือขนส่งน้ำมันที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งภายในประเทศและระดับภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นแล้ว รวมถึงดำเนินการปรับการบริหารจัดการเรือภายในกองเรือที่มีเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด ช่วยบริหารจัดการด้านต้นทุนการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปรับเปลี่ยนการขนส่งรายเที่ยวหรือ Spot เป็นแบบ Time Charter ที่เป็นลักษณะสัญญาระยะยาวและลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงทำให้ลดความเสี่ยงจากภาวะต้นทุนพลังงานการขนส่งน้ำมันได้ดีหรือการโยกย้ายน้ำมันมาบรรจุให้เต็มความสามารถการบรรทุกของกลุ่มธุรกิจ FSU ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนดำเนินงานซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานของ PRMได้ดีขึ้น

ทั้งนี้จากการประเมินแผนขยายกองเรือที่คาดว่าจะทยอยรับเรือได้ภายในปีนี้จะเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านรายได้จากการดำเนินงานมากกว่า 600 ล้านบาท จากการมีกองเรือให้บริการจาก 4 กลุ่มธุรกิจรวมทั้งสิ้น 34 ลำไม่รวมเรือจากพันธมิตรอีก 13 ลำ ที่จะเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น จึงมั่นใจว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในปี2561 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท