CAT ผนึกสามารถดิจิตอล ลุยตลาดวิทยุสื่อสารดิจิทัล ขยายพื้นที่ให้บริการ 1,000 สถานี

บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom Public Company Limited)รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในรูปบริษัทมหาชน จับมือ สามารถดิจิตอล ขยายพื้นที่บริการ Digital Trunked Radio System ตั้งเป้าขยายเครือข่ายให้ครบ 1,000 สถานี ให้บริการทั้งด้านโครงข่ายและเช่าอุปกรณ์สื่อสาร ตั้งเป้าขยายให้ครบ 2 แสนราย ภายในปี 2562

นายสงบ สังขจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มปฏิบัติการสื่อสารไร้สาย CAT เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างขยายพื้นที่ให้บริการ Digital Trunked Radio System หรือ DTRS วิทยุสื่อสารในระบบดิจิตอล บนคลื่นความถี่ 800 MHz ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บริการทั่วไปเพียงรายเดียวในประเทศไทย

การร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเร่งการขยายเครือข่ายวิทยุสื่อสารระบบ DTRS โดยติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับโครงข่ายเดิมที่มีอยู่แล้วทำให้การขยายโครงข่ายได้รวดเร็วมากขึ้น และพัฒนาระบบได้อย่างทั่วถึงในระดับตำบลทั่วประเทศโดยคาดว่าจะสามารถขยายสถานีได้ครบ 1,000 สถานี ภายในกลางปี 2562 อย่างแน่นอน

            สำหรับบริการวิทยุสื่อสารในระบบดิจิตอลจะเหมาะต่อการใช้งานติดต่อสื่อสารแบบกลุ่ม ซึ่งสามารถกระจายข่าวสารระหว่างผู้ใช้งานในกลุ่มเดียวกันหรือข้ามกลุ่มกันได้ ทำให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลข่าวสารเดียวกันและพร้อมกันทันทีในเวลาเดียวกัน

นายสงบ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสท มั่นใจว่ามีผู้ต้องการใช้บริการ วิทยุสื่อสารในระบบดิจิตอลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อขยายโครงข่ายแล้วเสร็จโดยคาดว่าจะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนราย 


            ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้บริการระบบ DTRS ที่บริษัทให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก และภาคกลาง ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน ขนส่ง หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสนามกีฬา(บุรีรัมย์)และการเช่าใช้งานเป็นครั้งคราว เป็นต้น

“หลังจากมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว จะทำให้การขยายการใช้บริการ DTRS จะทำได้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น และคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการทั้งองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับลอจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล ศูนย์กู้ภัยและบริษัทรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่ง บริษัทมั่นใจว่าองค์กรเหล่านี้ยังมีความต้องการและจำเป็นต้องใช้งานวิทยุสื่อสารระบบ DTRS อีกเป็นจำนวนมาก” นายสงบ กล่าว

            การขยายโครงข่ายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการใส่ใจพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโทรคมนาคมของ กสท ตอกย้ำศักยภาพที่สามารถคว้ารางวัลระดับโลกด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ได้รับมา จากงาน IFM Awards 2017  ณ ประเทศสิงคโปร์

รางวัล Best Contribution  to Digital Infrastructure Development – Thailand นับเป็นบริษัทโทรคมนาคมเพียงรายเดียวจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลดังกล่าว ซึ่ง IFM Awards ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้บุคคลหรือองค์กร ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ และมีส่วนสนับสนุนระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก จัดขึ้นโดยนิตยสาร International Finance จากประเทศอังกฤษ จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 โดยมีการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและมีความโปร่งใส รางวัล IFM Awards จึงได้รับความน่าเชื่อถืออย่างสูงมาโดยตลอด

            CAT หนึ่งในผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ได้พัฒนาบริการที่หลากหลายและครอบคลุมทุกภูมิภาค อาทิ บริการโครงข่ายโทรคมนาคม บริการอินเทอร์เน็ตและสื่อสารข้อมูลความเร็วสูง เป็นต้น ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานด้านเทคนิค คุณภาพการบริการ จากองค์กรต่างๆ ระดับสากล และได้รับการยกย่องด้านการเป็นผู้นำการให้บริการโทรคมนาคม ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศ สามารถสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0    ปัจจุบัน CAT ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City โดยใช้เทคโนโลยี LoRa สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ Internet of Things ของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเร่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด  อีกทั้งการร่วมพัฒนาศูนย์นวัตกรรม Digital Park Thailand หนึ่งในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทย