61 ปี เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความมั่นคงทางพลังงาน ด้วยพลังคนไทย

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ครบ 6 ทศวรรษ ขับเคลื่อนองค์กรด้วยพลังคนไทย พัฒนาแหล่งพลังงานสู่ความมั่นคง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา เชฟรอนขับเคลื่อนด้วยแรงพลังของพนักงานที่ 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนไทย ซึ่งเป้าหมายหลักในทศวรรษต่อไป มุ่งมั่นจัดหาพลังงานที่ต้องตอบโจทย์ความยั่งยืนและความมั่นคงทางพลังงาน โดยเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของแหล่งพลังงานที่มีอยู่แล้ว และปลดล็อกศักยภาพแหล่งพลังงานใหม่

“ เชฟรอนไม่เคยหยุดยั้งในการพัฒนาและนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อเอาชนะสภาพทางธรณีวิทยาที่ซับซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย พร้อมคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีสำคัญมากมายที่เชฟรอนได้พัฒนา อาทิ การขุดเจาะหลุมน้ำมันในแนวนอนหลุมแรกในอ่าวไทย รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในการขุดเจาะ จากเดิมที่ใช้เวลาขุดหลุมละกว่า 60 วัน สามารถลดเหลือเพียง 6 วัน เป็นต้น

ล่าสุด บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานของแท่นผลิต ที่เรียกว่า Integrated Operations Center หรือ IOC ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการนำ Control room นอกชายฝั่งของแหล่งผลิตกลางอ่าวไทยทั้ง 3 แห่ง คือ เบญจมาศ ไพลินเหนือ และไพลินใต้ มารวมไว้ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ทำให้สามารถควบคุมและสั่งการระบบการผลิตซึ่งห่างออกไป 300 กิโลเมตรได้ โดยคนบนฝั่งสามารถทำงานร่วมกับพนักงานนอกชายฝั่งได้แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง โดยถือได้ว่าเป็นการสร้างโมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อไปในอนาคต

ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทิศทางต่อจากนี้ เชฟรอนมุ่งขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และลดความเข้มข้นของคาร์บอนในการดำเนินงาน พร้อมมองหาพลังงานที่สะอาดขึ้น สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก อีกทั้งในฐานะองค์กรระดับโลก เชฟรอนยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกลาง โดยเฉพาะ Chevron New Energies (CNE) ทำให้สามารถเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีระดับโลกด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตลอดจนมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีตอบโจทย์ความยั่งยืน อาทิ เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการวางแผนนำร่องใช้พลังงานหมุนเวียน โดยติดตั้งโซลาร์เซลล์หรือนำพลังงานลมมาใช้ที่แท่นผลิตในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย

นายชาทิตย์ เปิดเผยว่า เราเชื่อว่าทิศทางของโลกต่อจากนี้ จะมุ่งหน้าสู่การมองหาพลังงานที่สะอาดขึ้น โดยเราพร้อมสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มที่ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ผ่านการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยี และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกย่างก้าว เราจึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั่วโลกภายในปี 2593 โดยการที่จะเดินหน้าสู่ความสำเร็จได้นั้น ปัจจัยด้านนโยบายภาครัฐและความร่วมมือจากพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน เป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยเร่งกระบวนการต่างๆ ให้บรรลุเป้าหมายได้

นอกจากนี้ เชฟรอนยังได้ปรับนโยบายในการลดปริมาณความเข้มข้นของคาร์บอนจากการปฏิบัติงาน ผ่านกลยุทธ์ Clean Operations Strategyใน 3 ด้าน ได้แก่ Energy Efficiency – ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เครื่องจักร Flare and Vent – ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงด้วยกระบวนการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และ Feasibility Study – ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดหาพลังงานที่สะอาดขึ้น

61 ปี เชฟรอน

61 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่นานพอจะได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของช่วงเวลาประวัติศาสตร์มากมายที่เกิดขึ้น หากมองย้อนกลับไปในยุคที่อุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย คงนึกไม่ถึงว่าจะได้เห็นการเติบโตของวงการพลังงานไทยตั้งแต่ยุคบุกเบิก จนถึงวันนี้ที่ประเทศไทยสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ โดยจากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาตลอด 61 ปี และความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีในฐานะองค์กรระดับโลกนั้น ช่วยเสริมแกร่งให้เชฟรอนพร้อมเดินหน้าสู่ฟ้าใหม่ กับพันธกิจจัดหาพลังงานที่ตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืน และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2505 นับเป็นการเดินทางก้าวแรกในประเทศไทยของเชฟรอน โดยถือเป็นบริษัทพลังงานแห่งแรกที่ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในประเทศจากรัฐบาล ซึ่งการสำรวจในช่วงยุคบุกเบิกนั้นเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ด้วยความมั่งมุ่นศึกษาสภาพธรณีวิทยาที่ซับซ้อนของอ่าวไทยจนเกิดความเชี่ยวชาญ และการไม่หยุดยั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดรับกับสภาพพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อีกสิบเอ็ดปีต่อมา เชฟรอนได้ประสบความสำเร็จในการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรก และได้เริ่มพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์ในปี 2524 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสู่ยุค โชติช่วงชัชวาล ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้มากขึ้น พร้อมทั้งทำให้เกิดการจ้างงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างก้าวกระโดด