‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ ขึ้นแท่น CEO ปตท.คนใหม่ วางแผน 5 ปี ทุ่มกว่า 2 แสนล้านบาท

45 ปี ยักษ์ใหญ่ ปตท.อนุมัติ คงกระพัน นั่งซีอีโอ คนที่ 11 วางหมาก 5 ปี (ปี 25672571) กว่า 2 แสนล้านบาท รุกธุรกิจหลัก เดินหน้าธุรกิจใหม่ธุรกิจยานยนต์ EV ครบวงจร พร้อมวางเป้าเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics และดัน จีซีต่อยอดบริษัทพลังงานข้ามชาติ

 45 ปี บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งเมื่อได้ผู้มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนที่ 11 โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.วันที่ 25 มกราคม2567 เห็นชอบให้นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนใหม่

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.คนที่ 11 จะเริ่มปฏิบัติงานบริหารการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป  

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาได้พิจารณาคุณสมบัติของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ตามกฎหมายแล้ว เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีมตินำเสนอคณะกรรมการ ปตท. ให้พิจารณา

สำหรับ กระบวนการสรรหาฯ จะเสร็จสมบูรณ์ เมื่อนายคงกระพัน เจรจาค่าตอบแทนและข้อสัญญาจ้างกับคณะอนุกรรมการพิจารณาผลตอบแทนฯ หลังจากนั้น จะเสนอต่อคณะกรรมการ ปตท. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและลงนามสัญญาจ้างและจะแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต่อไป

นายคงกระพัน  อินทรแจ้ง นอกจากเป็นซีอีโอของ GC แล้วยังเป็นประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) รวมทั้งเคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.

นอกจากนี้ได้ผลักดันให้ GC เป็นบริษัทข้ามชาติด้านพลังงานของไทย ซึ่งติดอันดับ Fortune Global 500 และเมื่อปี 2564 ได้ลงทุน 140,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH เพื่อต่อยอดธุรกิจของ GC โดยเฉพาะเพิ่มความหลากหลายของเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำด้านธุรกิจเคมีภัณฑ์ รวมถึงต่อยอดตลาดเอเชียแปซิฟิกและตลาดเกิดใหม่

รวมทั้งได้ผลักดันการลดคาร์บอน โดยจะปรับพอร์ตการดำเนินธุรกิจเพื่อลดปริมาณคาร์บอน 25 เปอร์เซ็นต์ และปรับปรุงโรงงานโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี CCS เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอน ตั้งเป้าการเป็น Together to Net Zero ภายในปี 2050

ปตท.วางแผนลงทุน 5 ปี (ปี 25672571) กว่า 2 แสนล้านบาท

 ปตท. มีการลงทุนในธุรกิจหลัก (Core Business) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนของงบการลงทุน 5 ปี ประมาณร้อยละ 51 โดยมีโครงการหลัก อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 และโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 8

รวมทั้งโครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 ทั้งนี้เพื่อให้การลงทุนสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. “Powering life with future energy and beyond” นั้น

ปตท.ยังมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ผ่านบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นร้อยละ 100 อาทิ โครงการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร เช่น โครงการ EVme ซึ่งให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการใช้รถยนต์ไฟฟ้าครบวงจร โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า Horizon Plus โครงการการลงทุนในธุรกิจโรงงานประกอบแบตเตอรี่โดยใช้เทคโนโลยี Cell- To-Pack (CTP) รวมถึง โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่3 และ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปี ข้างหน้าอีกจำนวน 106,932 ล้านบาท โดยหลักเพื่อการขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

อาทิ การขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานเปลี่ยนผ่าน (Transition Fuel)โดยมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติและการขยายการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การขยายการลงทุนของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายในการสร้างถังเก็บผลิตภัณฑ์

รวมถึงมุ่งเน้นธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ อาทิ การลงทุนในธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ (Life science) ซึ่งรวมถึง ธุรกิจยา ธุรกิจโภชนาการและอุปกรณ์และการวินิจฉัยทางการแพทย์ ธุรกิจ AI & Robotics เพื่อเป้าหมายการเป็นผู้นำการให้บริการด้าน AI & Robotics ในอนาคตตลอดจนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ และโครงสร้างพื้นฐานโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศ