อุบล ไบโอฯ ชูเทคโนโลยียีสต์ผลิตเอทานอลเชิงพาณิชย์ วางแผนขยายกำลังผลิต ลุยอุตฯน้ำมัน- เวชสำอางค์ในอนาคต

อุบล ไบโอ เอทานอล  จับมือ ปตท.เดินเครื่องใช้เทคโนโลยียีสต์ผลิตเอทานอลเชิงพาณิชย์  ร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมในประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน ส่วนกลุ่มบริษัทฯมั่นอีก 5 ปี มุ่งขยายกำลังการผลิต พัฒนาผลิตภัณฑ์เอทานอล ตอบสนองนโยบายรัฐบาลใช้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันขั้นพื้นฐานและส่งต่ออุตสาหกรรมเวชสำอางค์ต่อไป พร้อมเข้าร่วมโครงการ ตามกรอบเวลานโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งด่วน Quick win  อีกด้วย

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยียีสต์ สำหรับการผลิตเอทานอลว่า บริษัทฯได้ร่วมลงนามสัญญาการใช้เทคโนโลยียีสต์ สำหรับกระบวนการผลิตเอทานอลเพื่อการพาณิชย์กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีนายวิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม เป็นประธานในพิธีลงนาม

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับคัดการเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ มีการวิจัยเเละพัฒนาโดยสถาบันนวัตกรรม ปตท. การันตีโดยรางวัล PTT Innovative Idea Awards ระดับ Silver จากงานวิจัยเรื่อง PTT Yeast Technology Platform จากโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท. เมื่อปี 2559 ในงาน PTT Group Excellence Days ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการค้นหาและพัฒนายีสต์สายพันธุ์ทนร้อนที่ใช้ในกระบวนการผลิตเอทานอลที่อุณหภูมิสูง โดยผลงานนี้เป็นการร่วมวิจัยของคณะนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“โดยปกติแล้วการทำงานของยีสต์ในการหมักเอทานอล โดยเฉพาะยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ซึ่งมีการใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล จะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้ออยู่ในช่วงอุณหภูมิ 25-35 องศาเซลเซียส หากต้องการให้ยีสต์ผลิตเอทานอลในปริมาณมาก จำเป็นต้องควบคุมระดับอุณหภูมิในกระบวนการหมักให้อยู่ประมาณ 30 องศาเซลเซียส นอกจากนี้การผลิตเอทานอลในระดับอุตสาหกรรมมักจะเกิดปฏิกิริยาความร้อนร่วมด้วย และความร้อนที่เกิดขึ้นจะถูกระบายออกผ่านระบบการหล่อเย็น (Cooling) เพื่อให้จุลินทรีย์ไม่ถูกความร้อนทำลายและยังสามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและส่งผลให้มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น” นายเดชพนต์ กล่าว

ดังนั้นการค้นหายีสต์สายพันธุ์ทนร้อนที่มีประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และหมักเอทานอลที่อุณหภูมิสูงได้ นับเป็นทางเลือกที่ช่วยลดระยะเวลาการหมักให้สั้นลงและไม่ต้องใช้ระบบหล่อเย็นในการระบายความร้อน ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 30-35 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์อื่นๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน โดยเฉลี่ยแล้วมักมีอุณหภูมิช่วงกลางวันสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ดังนั้น งานวิจัยที่ศึกษาและพัฒนาการคัดเลือกยีสต์สายพันธุ์ทนร้อนเพื่อนำไปพัฒนากระบวนการผลิตเอทานอลที่อุณหภูมิสูงจึงเป็นประโยชน์และมีความจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเอทานอลในประเทศไทยอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในประเทศให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

นายเดชพนต์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมกลุ่มบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอลในอีก 5 ปีข้างหน้า ทางบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเอทานอลให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการกำหนดให้น้ำมัน E20 เป็นน้ำมันขั้นพื้นฐาน จะทำให้ปริมาณการใช้เอทานอลภายในประเทศสูงขึ้น หรือการจำหน่ายเอทานอล ในเกรดอุตสาหกรรมในธุรกิจด้านเวชสำอางค์ เป็นต้น จะทำให้ทางบริษัทฯ สามารถขยายกำลังการผลิตเอทานอลได้ในอนาคต การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลังที่มีมูลค่าสูงไม่ว่าจะเป็น สาคูออร์แกนิค สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ฯลฯ อีกมากมาย รวมทั้ง การสร้างธุรกิจใหม่ๆโดยมุ่งเน้น การทำ Organic product ที่หลากหลายพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รักสุขภาพในตลาดโลก

            สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่บริษัทฯเข้าร่วมโครงการ ตามกรอบเวลานโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเร่งด่วน Quick win  โดยโรงงานมีระบบผลิตไบโอก๊าซ ที่ผลิตจากการย่อยกากมันสำปะหลัง ที่ได้รับจากโรงแป้งมันสามารถปรับปรุงระบบรองรับหญ้าเนเปียร์ได้ภายใน 6 เดือน มีกากมันสำปะหลังเป็นผลพลอยได้ จากการผลิตเอทานอล นำมาใช้เป็นวัตถุดิบเสริมประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพและมีโรงไฟฟ้าขนาด 5.6 เมกะวัตต์ ที่มีสายส่งขนาด 115 เควี(KV) และ 22 เควี (KV) พร้อมรับการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกระทรวงพลังงานต่อไป

            ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยังมีสมาชิกกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร ที่มีพื้นที่เกษตรกรรมอยู่บริเวณรอบโรงงาน มีความต้องการและมีความพร้อมในการเข้าร่วมถือหุ้นกับโรงไฟฟ้า โดยกลุ่มบริษัท การประกันราคา และรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังที่แน่นอน และเพิ่มผลผลิตในการปลูกหญ้าเนเปียร์ และมีโครงการสนับสนุนกากมันสำปะหลัง เพื่อเป็นสารปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้ง กลุ่มบริษัทฯมีที่ดินปลูกหญ้าเนเปียร์มากกว่า 2,000 ไร่มีประสบการณ์ในการปลูก และจัดการแปลงหญ้าเนเปียร์มากกว่า 5 ปีมีผลผลิตสูงเฉลี่ยประมาณ 10 ตันต่อไร่ สามารถเป็นแปลงต้นแบบสาธิตให้กับกลุ่มเกษตรกรได้มาศึกษาเรียนรู้ได้อีกทางหนึ่งด้วย