BGC ปรับเป้าโตก้าวกระโดด เก็บ 3 หมื่นล้านภายใน 5 ปี เร่งลงทุนธุรกิจพลังงานสะอาด

บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) BGC เครือบางกอกกล๊าส ปรับกลยุทธ์ตั้งเป้าโตแบบก้าวกระโดดจาก 1.2 หมื่นล้าน เป็น 3 หมื่นล้านภาย ใน 5 ปี พร้อมเร่งลงทุน พลังงานสะอาด-บรรจุภัณฑ์กระดาษ รับดีมานด์เทรนด์อีคอมเมิร์ซ

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขวดแก้ว ในเครือบางกอกกล๊าส เปิดเผยว่า ขณะนี้ขวดแก้วแม้จะมีการเติบโตต่อเนื่อง 3-4 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากกำไรของธุรกิจค่อนข้างต่ำ บริษัทจึงไม่ได้โฟกัสแค่ธุรกิจแก้ว ยังยายลงทุนต่อยอดธุรกิจบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกล่องกระดาษ ฟิล์มและถุงเพาช์ รวมทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน โดยเน้นเติบโตแบบน็อนออร์แกนิก ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการ ปัจจุบันพอร์ตรายได้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท บริษัทตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจากนี้จะมียอดขายเพิ่มเป็น 3 หมื่นล้านบาท

ล่าสุดบริษัทได้เข้าซื้อหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ของบริษัท โซล่าร์ พาวเวอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (SPM) ด้วยมูลค่า 1,259 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม 2 โครงการ คือ โครงการ Xuan Tho1 และโครงการ Xuan Tho2 ซึ่งเป็นโครงการที่เริ่มมีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้วทั้ง 2 โครงการตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายรวม 99.219 เมกะวัตต์

ขณะที่การขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพื่อรับดีมานด์เพิ่มขึ้นตามกระแสอีคอมเมิร์ซ และการใช้แพ็คสินค้าทดแทนพลาสติกและโฟม ซึ่งตลาดนี้ยังมีเอสซีจีเป็นรายใหญ่เพียงรายเดียว จึงมองว่ายังมีโอกาสชิงดีมานด์ได้ โดยได้ทดลองรับหน้าที่ขายบรรจุภัณฑ์กระดาษ รวมถึงฟิล์มพลาสติกของบริษัท บีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด ในเครือบางกอกกล๊าส ให้กับลูกค้าภายนอก พร้อมศึกษาตลาดและเจรจากับธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาโอกาสซื้อกิจการหรือร่วมทุน กรรมการผู้จัดการ BGC  เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เราไม่ได้ทิ้งธุรกิจแก้ว แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้ควบคุมต้นทุนในการผลิตแก้วเพื่อเพิ่มมาร์จิ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการหาเศษแก้วจากการไปซื้อบริษัทจัดเก็บเศษแก้วเข้ามา หรือในด้านพลังงาน ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักอีกตัวของโรงแก้ว ก็มีการติดตั้งโปรแกรมควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติ รวมไปถึงการจัดหาวัตถุดิบอื่น ๆ จนแทบไม่สามารถลดต้นทุนลงไปมากกว่านี้ได้แล้ว จึงหันไปสร้างการเติบโตรายได้และกำไรจากธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาเสริมและมองว่าการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆนั้นจะเน้นการเข้าไปซื้อกิจการหรือร่วมทุน เพราะมองว่าจะคุ้มค่าและประหยัดกว่าไปเริ่มต้นลงทุนเองใหม่ทั้งหมด