มหาวิทยาลัยขอนแก่นส่ง 5 คณะร่วมวิจัยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์กับองค์การเภสัชกรรม

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)ส่ง  5 คณะ จับมือองค์การเภสัชกรรมวิจัยสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบยาให้ทันสมัยและหลากหลายเหมาะสมกับโรคต่างๆ

            รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ที่เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีในรูปแบบยาเตรียมที่ทันสมัย ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายที่ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น ยาเหน็บทวารหนัก แผ่นแปะซึมผ่านผิวหนัง และแผ่นฟิล์มเกาะติดเนื้อเยื่อในช่องปาก รวมถึงวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรม ศึกษาความคงสภาพ ศึกษาพรีคลินิกและศึกษาคลินิกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ตลอดจนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้ใช้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเมดิคัลเกรด

            สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ม.ขอนแก่น ก็มีความพร้อม เพราะมีคณะที่เกี่ยวข้องที่จะมาร่วมมือในการดำเนินงานถึง 5 คณะ ทั้งคณะเกษตรศาสตร์ ที่จะเข้ามาดูเรื่องของการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ คณะเภสัชศาสตร์ ในการพัฒนาสารสกัดกัญชารูปแบบใหม่ๆ คณะวิทยาศาสตร์ ที่จะช่วยสกัดและวิจัยสารสำคัญของกัญชาที่นอกเหนือไปจากสารทีเอชซีและซีบีดี คณะแพทยศาสตร์ ในการวิจัยผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาในมนุษย์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในการนำกากช่อดอกที่เหลือจากการสกัด หรือที่เรียกว่าซีโรเบส มาพัฒนาเป็นอาหารสัตว์

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการเพื่อวิจัยและพัฒนา ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชารูปแบบต่างๆ นอกเหนือจากชนิดหยดใต้ลิ้น ให้มีความหลากหลาย ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพการรักษาและเหมาะสมกับโรคต่างๆ ยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเภสัชกรรม ทั้งนี้จะมีการศึกษาความคงสภาพ การศึกษาพรีคลินิก และการศึกษาคลินิก กับผู้ป่วยกลุ่มโรคต่างๆ ที่องค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือวิจัยในผู้ป่วยกับกรมการแพทย์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ตลอดจนการบริหารจัดการนำวัตถุดิบส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตในส่วนของต้นกัญชาที่ได้จากการสกัดนำไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมการศึกษาวิจัยในโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลพียงพอสำหรับการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ ต่อไป

            อย่างไรก็ตามคาดว่าปลายเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนี้ จะเริ่มทยอยกระจายผ่านกรมการแพทย์ สู่โรงพยาบาลที่เปิดให้บริการใช้สารสกัดกัญชารักษาผู้ป่วย ในรูปแบบการวิจัยแบบเฉพาะรายผ่านช่องทางพิเศษ หรือ SAS และการรักษาผู้ป่วยแบบวิจัยเชิงลึกครบทุกกระบวนการวิจัย รวมถึงการรักษาในรูปแบบอื่นกับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยแพทย์ผู้รักษาและเภสัชกรผู้สั่งจ่ายยา และโรงพยาบาลที่ได้รับการอนุญาตจาก อย.