46 ปี ก้าวสู่ 47 ปี กทพ. มุ่งมั่นพัฒนาทางพิเศษ จับมือเครือข่ายธุรกิจพัฒนาบุคลากรเพิ่มศักยภาพการให้บริการประชาชน

การทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือ กทพ.หน่อวยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่บำรุงรักษาทางพิเศษและดำเนินงานต่างๆที่เกี่ยวกับทางพิเศษในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

            นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน

ปัจจุบัน กทพ. ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษ ก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัชได้เข้ารับการตรวจประเมินการรักษาระบบบริหารงานคุณภาพด้านบริการ ISO 9001 : 2015 ขอบเขตการให้บริการรับชำระเงินค่าผ่านทางพิเศษและการควบคุมการจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ โดย บริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (BSI) เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการของกทพ.ต่อผู้ใช้บริการทางพิเศษ

ทั้งนี้ กทพ. จะมุ่งมั่นพัฒนาการบริการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอย่างต่อเนื่องเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และให้ผู้ใช้ทางเกิดความประทับใจมากที่สุด

            กทพ.ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

            ล่าสุด นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการกทพ.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรกับนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

            ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาการทางพิเศษฯได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาความสามารถให้พนักงานโดยความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรระดับประเทศมาโดยตลอด โดยมุ่งหวังที่จะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรของการทางพิเศษฯให้มีความรู้ความสามารถมากยิ่งขึ้น

สำหรับการร่วมมือกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดียิ่ง เนื่องจากการบินไทยเป็นหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการองค์กรในระดับสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญการใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารและให้บริการ

สู่ 47ปี กทพ.

            การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี  2515ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290  ต่อมาได้มีการปรับปรุงกฎหมายโดยการประกาศใช้บังคับพระราช-บัญญัติการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ปี 2550 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551 ปัจจุบันนี้ กทพ. มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ในสาระสำคัญ ดังนี้

1. สร้างหรือจัดให้มีทางพิเศษด้วยวิธีใด ๆ ตลอดจนบำรุงและรักษาทางพิเศษ 2. ดำเนินงานหรือธุรกิจเกี่ยวกับทางพิเศษและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับทางพิเศษหรือที่เป็นประโยชน์แก่กทพ.  “ทางพิเศษ” มีคำจำกัดความตามกฎหมายว่า หมายถึง ทางหรือถนนซึ่งจัดสร้างขึ้น หรือได้รับโอนหรือได้รับมอบไม่ว่าจะจัดสร้างในระดับพื้นดิน เหนือ หรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ และให้หมายความรวมถึงสะพานอุโมงค์ เรือสำหรับขนส่งรถข้ามฟาก ท่าเรือสำหรับขึ้นลงรถทางเท้า ที่จอดรถ เขตทาง ไหลทาง เขื่อนกั้นน้ำ ท่อ หรือทางระบายน้ำกำแพงกันดิน รั้วเขต หลักระยะ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจร อาคาร หรือ สิ่งอื่นใดที่จัดไว้ในเขตทาง เพื่ออำนวยความสะดวกหรือเพื่อความปลอดภัยเกี่ยวกับงานทางพิเศษ