79 ปีกรมปศุสัตว์ ปักธงรบการปศุสัตว์ไทยรุกตลาดโลก

สู่ 79 ปี กรมปศุสัตว์ วางยุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานการผลิตและปลอดภัยของปศุสัตว์ไทย ชู GMP/HACCP  เข้มคุณภาพสินค้า สร้างความแข็งแกร่งองค์กรเกษตรกร พัฒนาอาชีพไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รองรับการขับเคลื่อนตลาดในประเทศและต่างประเทศต่อเนื่อง

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในโอกาสวันสถาปนากรมปศุสัตว์ครบรอบ 79 ปีได้ทำการส่งเสริมและพัฒนางานด้านปศุสัตว์ให้มีความเจริญก้าวหน้ามีประสิทธิภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ ถือเป็นบทบาทสำคัญของกรมปศุสัตว์ ดั่งวิสัยทัศน์ที่ว่า” เป็นองค์การที่นำและขับเคลื่อนการปศุสัตว์ไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในตลาดโลก”

“  ปี 2564 กรมปศุสัตว์ มีแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตรกร ทั้งด้านการป้องกันและควบคุมโรค การสร้างมาตรฐานการผลิตปศุสัตว์เพื่อความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและสร้างมาตรฐานการส่งออกให้เป็นไปตามสากล นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบการตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร โดยส่งเสริมรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรสามารถนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์มีหน้าที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดโควิดไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า โดยมีมาตรการกำกับตรวจสอบดูแลความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน GAP โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย มีมาตรการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด โดยมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหาร จะมีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน 2) ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต 3) ด้านสินค้า มีการตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด มีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต เพื่อประกันการปลอดเชื้อ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าตรวจจำนวน 2,690 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส

นอกจากนี้ยังกำกับดูแลกระบวนการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet food) เพื่อการส่งออก โดยครอบคลุมการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก (VCN.) ควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงงานให้มีระบบรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี (GMP) และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) การตรวจสอบกระบวนการผลิต และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้า

ด้านดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 79 ปีกรมปศุสัตว์ว่า   กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนางานด้านปศุสัตว์ให้มีความเจริญก้าวหน้า มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานและปลอดภัยสำหรับการบริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ จึงถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดร.เฉลิมชัย กล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวทางการขับเคลื่อนที่สามารถนำไปต่อยอดได้ คือ การส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ที่มีมาตรการ ลด ละเลิกการใช้สารเคมี การใช้ระบบการตลาดนำการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ การลดต้นทุน การผลิตและเพิ่มคุณภาพการผลิต การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร โดยส่งเสริมรายได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร การตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร ทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ เพื่อจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร Big  Data เป็นต้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรเกษตรกรสามารถนำความรู้ไปพัฒนาอาชีพ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์นั้น ล้วนเป็นการตอบสนองนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์