159 ปี แห่งการสถาปนา “กรมเจ้าท่า” ตั้ง สมศักดิ์ ห่มม่วง กุมบังเหียน เดินสายรับฟังปัญหา ขับเคลื่อนพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

กรมเจ้าท่าหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดูแลพื้นน้ำและการเดินทางทางน้ำ มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแล ส่งเสริมพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีให้มีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล

159 ปีที่ผ่านมากรมเจ้าท่ามีการปรับบทบาทการบริหารงานให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับการให้บริการที่ดี สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ พร้อมยกระดับการขนส่งทางน้ำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางน้ำเพื่อรองรับปริมาณการสัญจรทางน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดูแล ความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

รวมถึงการพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นๆ และพัฒนาระบบติดตามเรือ โดยมีนโยบายที่สำคัญต้องดำเนินการผลักดันและขับเคลื่อนให้สามารถสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและเป็นส่วนหนึ่งการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและก้าวเข้าสู่สังคมยุคดิจิตอลในอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืน ตามนโยบาย Thailand 4.0

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่าคนใหม่ พร้อมคณะลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่บ้านน้ำเค็ม ต.เกาะคอเขา และ ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา  ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากความตื้นเขินของร่องน้ำคลองน้ำเค็มและคลื่นลมทำให้การเดินเรือในร่องน้ำไม่ปลอดภัย การจอดเรือบริเวณท่าเรือข้ามฟากบ้านน้ำเค็ม-เกาะคอเขาได้รับผลกระทบจากคลื่นลมในช่วงมรสุม เนื่องจากแนวสันทรายตามธรรมชาติที่มีส่วนช่วยกันคลื่นให้แก่ท่าเรือและการเดินเรือได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ทำให้ร่องน้ำมีตะกอนทับถมอย่างรวดเร็วและการเดินเรือไม่ปลอดภัยช่วงฤดูมรสุม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้รับทราบปัญหาแล้วเบื้องต้น ได้สั่งการให้สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำเข้าดำเนินการขุดลอกร่องน้ำคลองน้ำเค็มตามแนวร่องน้ำเดิม ขนาดความกว้างก้นร่องน้ำ 40 เมตร ลึก 2 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด คาดว่าจะสามารถเข้าดำเนินการได้ในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2561 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการเร่งด่วน ซึ่งการแก้ไขปัญหาระยะยาว กรมเจ้าท่ามีแผนที่จะดำเนินการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น และขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดิน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลและของกระทรวงคมนาคม

อย่างไรก็ตามพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตประกาศของสิ่งแวดล้อมกรมเจ้าท่าจึงได้ประสานงานกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขอยกเว้นกรณีของทางราชการที่จำเป็นต้องกระทำเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ต้องสัญจรทางน้ำ เพื่อที่จะดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นต่อไป

นอกจากนี้กรมเจ้าท่ามีแนวคิดที่จะทำการศึกษาเส้นทางเดินเรือใหม่สำหรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารจากทะเลฝั่งตะวันออก ได้แก่ สัตหีบ แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง ส่วนทะเลฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา โดยกรมเจ้าท่าจะทำการศึกษาความเป็นไปได้และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

“จะไม่ลงลึกไปถึงทำการก่อสร้างก่อนแล้วจึงหาเอกชนเข้ามาบริหาร เพราะอาจประสบปัญหากลายเป็นท่าเรือร้างเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มีเอกชนสนใจ เพราะไม่คุ้มทุน ทั้งนี้ในระหว่างการศึกษาจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนว่ามีผู้สนใจโครงการหรือไม่ หากมีจะนำโครงการนั้นเข้าสู่ขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ สำหรับเส้นทางที่กรมเจ้าท่ากำลังเตรียมทำการศึกษา ได้แก่ เส้นทางภูเก็ต-เกาะพีพี-กระบี่ โดยให้สามารถเชื่อมต่อขนส่งทางถนนและสนามบินได้ด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมกับได้ข้อสรุปว่ามีเอกชนสนใจจะเดินเรือในเส้นทางนี้หรือไม่ภายในสิ้นปีนี้”