129 ปี กรมวิทยาศาสตร์บริการ ยกระดับนวัตกรรมไทยสู่สากล

กรมวิทยาศาสตร์บริการ ฉลองความยิ่งใหญ่ในปีที่ 129 ชูผลงานเด่นด้วยมาตรฐาน ISO/IEC 17043 เพียงหน่วยงานเดียวของประเทศไทย เป็นอันดับที่ 4 ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนแผนต่อเนื่องก้าวสู่การขับเคลื่อน โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพผลักดันนวัตกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ  เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการได้จัดงานทำบุญในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนา 129 ปี เมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะผู้บริหารจากหน่วยงานสำคัญอื่นๆ เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ สำนักงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมทรัพยากรธรณี สถาบันมาตรวิทยา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมแสดงความยินดี

“กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งตลอดระยะเวลา 129 ปี มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของประเทศไทยด้วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ตั้งแต่การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบ ตรวจสอบ รับรองบริการและผลิตภัณฑ์หลากหลายที่อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทย ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวอย่าง อาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง ของเล่น สมุนไพร วัสดุก่อสร้าง ยาง กระดาษ พลาสติก แก้ว อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุทาง การแพทย์ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเทคโนโลยีอนาคตอย่าง หุ่นยนต์และระบบเซ็นเซอร์ รวมทั้งทำการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับอุตสาหกรรม เป็นแหล่งรวมข้อมูลสารสนเทศด้าน วทน. และเป็น 1 ใน 4 หน่วยงานที่ให้การรับรองห้องปฏิบัติการในด้านต่างๆ ของประเทศ”

นางสาวนิสากร กล่าวต่อว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการมีผลงานที่โดดเด่น เช่น สำนักบริหารและการรับรอง ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรอง ห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation, ILAC) ร่วมด้านการรับรอง ความสามารถผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 เพียงหน่วยงานเดียวในนามประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้จัดโปรแกรมฯ ที่ได้รับการรับรองเป็นอันดับที่ 4 ในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการยังเป็นหน่วยงานเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับการรับรองให้เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านอาหารของอาเซียน สาขาวัสดุสัมผัส อาหาร ในการทดสอบรองรับอุตสาหกรรมอาหารและวัสดุสัมผัสอาหารด้วย

ส่วนก้าวต่อไปของกรมวิทยาศาสตร์บริการคือ การได้รับมอบหมายให้เป็นตัวกลางเชื่อมโยงประสานและขับเคลื่อน โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐานในทุกมิติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยและผลักดันให้นวัตกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

ต้นกำเนิด กรมวิทยาศาสตร์บริการ

              จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของกรมวิทยาศาสตร์บริการนับเนื่องจากปี พ.ศ.2434 หน่วยงานวิเคราะห์แร่  ซึ่งเป็นหน่วยงานเล็กๆ ในกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น กองแยกธาตุ ใน ปีพ.ศ. 2455 สังกัด กรมกษาปณ์สิทธิการ  กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  โดยได้รวบรวมงานวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดมารวมไว้ในกอง
      ต่อมาในปี พ.ศ. 2461 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้รวมงานวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินการอยู่ในที่ต่าง ๆ มาไว้ในที่แห่งเดียวกัน โดยจัดตั้งศาลาแยกธาตุ อยู่ในสังกัดของกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ เมื่องานวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยขยายขอบเขตและเจริญมากขึ้น ศาลาแยกธาตุ  ได้ปรับปรุงกิจการและได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมวิทยาศาสตร์ ในสังกัดของกระทรวงเศรษฐการ เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2476 และในปี 2485 สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม
     ในช่วงเวลาดังกล่าวภาระหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าและมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดหน่วยงานสำคัญที่แยกออกจากกรมวิทยาศาสตร์หลายหน่วยงาน เช่น องค์การเภสัชกรรม(2482) องค์การสารส้ม(2496) สถาบันวิจัยแห่งชาติ  หรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติในปัจจุบัน(2499) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(2505) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(2506) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(2522) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(2541)
       ต่อมาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่4  (พ.ศ.2520-2524)  รัฐบาลได้จัดตั้ง กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน ขึ้นในปี พ.ศ.2522  (ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ทำให้กรมวิทยาศาสตร์เดิมเปลี่ยนชื่อเป็น กรมวิทยาศาสตร์บริการ แยกออกจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาสังกัดอยู่ในกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่นี้