120ปี รฟท. ยกเครื่องบริหารด้วยเทคโนโลยีใหม่ หวังเชื่อมโยงประเทศภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.จัดตั้งขึ้นเริ่มแรกในนามบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ให้ขัดกับพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

รฟท.ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาบริการรถไฟให้มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว สะอาด และปลอดภัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินทางของประชาชนคนไทยของทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดการรถไฟยังได้เตรียมดำเนินการปรับปรุงขบวนรถโดยสารชั้น 3 รถไฟฟรีครั้งใหญ่ เพื่อมอบให้เป็นของขวัญแก่ประชาชนคนไทย ในโอกาสที่การรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การให้บริการในปีที่ 120

ทั้งนี้ ขบวนรถโดยสารดังกล่าวจะมีการปรับปรุงในส่วนของรถไฟฟรีชั้น 3 ซึ่งพ่วงอยู่ในขบวนรถเร็ว 8 ขบวน ใน 4 เส้นทาง ได้แก่ ขบวนที่ 109 กรุงเทพ-เชียงใหม่  ขบวนที่ 102 เชียงใหม่-กรุงเทพ ขบวนที่ 171 กรุงเทพ-สุไหงโก-ลก  ขบวนที่ 172 สุไหงโก-ลก-กรุงเทพ  ขบวนที่ 133 กรุงเทพ-หนองคาย ขบวนที่ 134 หนองคาย-กรุงเทพ  ขบวนที่145 กรุงเทพ-อุบลราชธานี และขบวนที่ 146 อุบลราชธานี-กรุงเทพ และจะทยอยดำเนินการปรับปรุงขบวนรถไฟชานเมือง ซึ่งเป็นรถไฟฟรี ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนวันละ 164 ขบวนให้มีรูปโฉมทันสมัย สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น

“การเร่งดำเนินปรับปรุงขบวนรถไฟครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทย โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยซึ่งถือเป็นผู้ที่ใช้บริการรถไฟจำนวนมาก ให้มีโอกาสได้รับบริการสาธารณะที่ดี และรถไฟที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ประกอบกับที่ผ่านมาขบวนรถไฟดังกล่าวมีผู้ใช้บริการจำนวนมากหลายหมื่นคนต่อวัน ได้ขาดการปรับปรุงครั้งใหญ่มานาน  การรถไฟ จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุง เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน”

สำหรับการปรับโฉมขบวนรถไฟโดยสารครั้งใหญ่นี้ จะมีการปรับปรุงหลายส่วนด้วยกัน อาทิ การทำสีขบวนรถโดยสารทั้งภายในและภายนอกใหม่ การปรับปรุงห้องน้ำให้มีความสะอาด ปราศจากกลิ่นรบกวนระหว่างเดินทาง การปรับปรุงสภาพพื้นในตัวรถโดยสารให้มีความสะอาดแข็งแรง เบาะที่นั่งให้นั่งได้สะดวกสบาย การปรับปรุงพัดลมในรถโดยสารทุกคันและที่สำคัญจะมีการทำความสะอาด บิ๊กคลีนนิ่ง  ในขบวนรถไฟโดยสารทุกคันอีกด้วย  โดยการปรับโฉมรถโดยสารใหม่ครั้งนี้  เป็นอีกหนึ่งจากหลายโครงการที่การรถไฟฯ มุ่งยกระดับการให้บริการรถไฟ เพื่อให้กลับมาเป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยได้อีกครั้ง

​นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดหารถโดยสารรุ่นใหม่ จำนวน 115 คัน เพื่อเป็นการลงทุนในล้อเลื่อน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ด้วยการนำรถโดยสารที่มีความทันสมัย และพัฒนาบริการที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สนองตอบความต้องการของผู้โดยสารที่มีกำลังซื้อ โดยเปิดให้บริการเที่ยวแรกไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 2559 กำหนดให้บริการในเส้นทางหลัก 4 เส้นทาง ไปและกลับ จำนวน 8 ขบวน ต่อวัน ประกอบด้วย

– ​สายเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถี ที่ 9 และ 10 กรุงเทพ – เชียงใหม่ – กรุงเทพ

– ​สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัตนา ที่ 23 และ 24 กรุงเทพ – อุบลราชธานี – กรุงเทพ

– ​สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา ที่ 25 และ 26 กรุงเทพ – หนองคาย – กรุงเทพ

– ​สายใต้ ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ที่ 31 และ 32 กรุงเทพ – ชุมทางหาดใหญ่ – กรุงเทพ

​การเปิดเดินขบวนรถดังกล่าว เป็นการทดลองการให้บริการขบวนรถโดยสารในรูปแบบใหม่ โดยใช้อัตรา ค่าโดยสารเดียวกับขบวนรถเชิงพาณิชย์ (ขบวนรถด่วนพิเศษ) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เพิ่มอัตราค่าโดยสาร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการที่รักการเดินทางได้ทดลองสัมผัสกับขบวนรถโดยสารรุ่นใหม่ของรถไฟไทย ที่เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก และความสบายมากยิ่งขึ้น เช่น การให้บริการน้ำดื่ม บริการ WIFI จอ LED แสดงสถานะข้อมูลการเดินรถ และรายการบันเทิงต่าง ๆ บนขบวนรถ

อย่างไรก็ตาม การให้บริการเพิ่มเติมเหล่านี้ ทำให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เมื่อนำมาคำนวณแล้ว จะทำให้แต่ละที่นั่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย ประมาณ 185 บาทต่อคน ดังนั้นเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระที่การรถไฟฯ ต้องรับค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม จึงปรับอัตราค่าธรรมเนียมบริการใหม่ของขบวนรถชุดดังกล่าวทุกเส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้นเมื่อรวมกับค่าโดยสารแล้ว เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยโดยเฉลี่ยประมาณ ราคา ๑๙๐ และ ๑๔๕ บาท ต่อที่นั่งเท่านั้น โดยการปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมในครั้งนี้จะสามารถสร้างรายได้ในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้ให้แก่การรถไฟฯ เพื่อนำไปปรับปรุงบริการให้เป็นมาตรฐานสากล และพัฒนาศักยภาพในการขนส่งทางรางให้เพิ่มมากขึ้น

ประวัติการรถไฟแห่งประเทศไทย

การรถไฟแห่งประเทศไทย (ชื่อย่อ: รฟท.; อังกฤษ: State Railway of Thailand ; SRT) เป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านรถไฟของประเทศไทย มีทางรถไฟอยู่ภายใต้ขอบเขตดำเนินการทั้งหมด 4,070 กิโลเมตร

ทางรถไฟในประเทศถูกระเบิดได้รับความเสียหายเป็นอันมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้มีความต้องการกู้เงินจากต่างประเทศ ธนาคารโลกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ บีบให้แปรรูปกรมรถไฟเป็นรัฐวิสาหกิจในปี พ.ศ. 2494 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และมีการตราพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ขึ้น ส่งผลทำให้ผู้บริหารของกรมรถไฟซึ่งนับเป็นส่วนราชการที่มีบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่เดิมเคยเลื่อนตำแหน่งมาเป็นปลัดกระทรวงคมนาคมและมีบทบาทสำคัญในการผลักดันกิจการรถไฟ ต้องกลายมาเป็นเพียงแค่ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย เท่านั้น ทำให้ขาดเส้นทางอาชีพที่จะผลักดันความก้าวหน้ากิจการรถไฟ

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ จากนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2439 พระองค์ได้เสด็จฯ ทรงเปิดการเดินรถไฟ สายกรุงเทพ-นครราชสีมา เส้นทางรถไฟสายแรกของประเทศสยาม กรมรถไฟจึงถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟจนถึงปัจจุบัน