118 ปี กรมชลประทาน ตั้งเป้าสู่องค์กรอัจฉริยะภายในปี 2580

กรมชลประทาน หน่วยงานหลักในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ โดยตั้งเป้าเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการภายในปี 2580

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 34,100 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,436 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,276 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,580 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน(18 พ.ค. 63) มีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 1,481 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ของแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 485 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของแผนฯ

ขณะที่ผลการเพาะปลูกข้าวนาปี 2563 ปัจจุบันทั้งประเทศเพาะปลูกแล้วรวมทั้งสิ้น 0.65 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 16.79 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกแล้ว 0.43 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 8.10 ล้านไร่ ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ค่อนข้างจำกัด สำรองไว้ใช้ได้เฉพาะอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ เท่านั้น ส่วนการทำนาปี ขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก และถึงแม้ว่าขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยา จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม ขอให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกเมื่อเห็นว่ามีปริมาณฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอในพื้นที่

สำหรับการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการรับมือฤดูฝนปี 2563 นั้น ได้สั่งการให้โครงการชลประทาน ทั่วประเทศ ตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คู คลองต่างๆ การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆเป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือน้ำล้นตลิ่ง อีกทั้ง ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน

สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ พบว่า ณ วันที่ 30 เม.ษ. 63 มีการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้นประมาณ 17,053 ล้าน ลบ.ม. (96 เปอร์เซ็นต์ ของแผนฯ)(วางแผนไว้ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนจัดสรรน้ำไว้รวม 4,500 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้น้ำจาก 4 เขื่อนหลักรวม 3,500 ล้น ลบ.ม. อีกส่วนหนึ่งจะผันมาจากแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม. ผลการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 4,595 ล้าน ลบ.ม. ถือได้ว่าการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งที่วางไว้

ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณเกษตรกรและประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมมือ ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้การใช้น้ำเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเพียงพอ สำหรับผลการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมทั้งสิ้น 4.75 ล้านไร่ (แผนวางไว้ 2.83 ล้านไร่) แยกเป็นข้าวนาปรัง 4.21 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.54 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรัง ประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.90 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองทำการเพาะปลูก

ทั้งนี้ ตลอดในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมที่สุด เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด เหตุจากในช่วงฤดูฝนปี 2562 มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำธรรชาติ และแม่น้ำสายต่างๆ มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก

อย่างไรก็ตามกรมชลประทานได้ช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ 66 จังหวัด 275 อำเภอ 413 ตำบล 696 หมู่บ้าน ด้วยการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 126 คัน คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 40 ล้านลิตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 832 เครื่อง แบ่งเป็นการสูบน้ำช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภค และการเกษตร คิดเป็นปริมาณน้ำกว่า 349 ล้าน ลบ.ม. สูบน้ำและผันน้ำไปช่วยการประปา และอื่นๆ คิดเป็นปริมาณน้ำมากกว่า 1,180 ล้น ลบ.ม. และยังมีเครื่องจักรกลอื่นๆ อีก 332 หน่วย ที่ส่งเข้าไปช่วยหลือ รวมทั้งการซ่อม / สร้างทำนบ / ฝาย รวม 32 แห่ง และการขุดลอกแหล่งน้ำอีก 39 แห่งด้วย

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้ดำเนินการจัดจ้างแรงงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง จนถึงขณะนี้มีผู้เข้าร่วมรับการจ้างงานกว่า 48,080 คน