107ปี การสถาปนากรมทางหลวง งัด 4 ยุทธศาสตร์หวังเป็นเกาะกลางเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน สู่การผลักดันศักยภาพด้านเศรษฐกิจของประเทศ

กรมทางหลวง จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมทางหลวงปีที่ 107 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธีวางพวงและคณะผู้บริหารกรมทางหลวงให้การต้อนรับ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ผู้กล้าหาญกรมทางหลวงถนนศรีอยุธยา

            นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า 107 ปี ที่ผ่านมากรมทางหลวงมีภารกิจหลักในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีเส้นทางในความรับผิดชอบเป็นระยะทางประมาณกว่า 60,000 กิโลเมตร

ปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการหลายโครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 3 สายทาง (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 6 สายบางปะอิน–นครราชสีมา ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพ – บ้านฉาง ช่วงพัทยา–มาบตาพุด และทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 สายบางใหญ่–กาญจนบุรี) การก่อสร้างคันทางรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน (ช่วงกลางดง – ปางอโศก) โครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตอน ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน – เอกชัย ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (ช่วงแยกทางหลวงหมายเลข 224 – บรรจบทางหลวงหมายเลข 226) โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และโครงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เป็นต้น

            “ในรอบปีที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ดำเนินโครงการสำคัญต่างๆแล้วเสร็จหลายโครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 (ทางเชื่อมผืนป่า) จ.ปราจีนบุรี โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา แห่งที่ 2 จ.ตาก โครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเชียงราย(สะพานข้ามแม่น้ำกก) จ.เชียงราย และสะพานเข้าท่าอากาศยานดอนเมือง”

นอกจากนี้ภารกิจหลักแล้วกรมทางหลวงยังมีภารกิจอื่นๆที่ได้รับมอบหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหรือช่วยเหลือประชาชน เช่น การดำเนินโครงการ“กรมทางหลวง – การประปาส่วนภูมิภาครวมใจต้านภัยแล้ง การติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านต่างๆ รวมถึง การยกเว้นค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่อง

            นายอานนท์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่ากรมทางหลวงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ปี 2560-2564 ไว้ 4 ข้อคือ 1. การพัฒนาระบบทางหลวง – การพัฒนาระบบทางหลวงที่เชื่อมต่อ (Connectivity) เข้าถึง (Accessibility) และคล่องตัว (Mobility) อย่างมีคุณภาพและตรงความต้องการ 2. ระดับการให้บริการ – การรักษาระดับการให้บริการ (Serviceability) ของระบบทางหลวงให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง3. ความปลอดภัย – การยกระดับความปลอดภัย (Safety) ของระบบทางหลวงอย่างบูรณาการ 4. ระบบบริหารจัดการ – การพัฒนาส่งเสริมระบบบริหารจัดการองค์กร (Organization Management) อย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม กรมทางหลวงได้ดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเสริมสร้างการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและคมนาคม ยกระดับการให้บริการเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ทัดเทียมสากลและดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “ระบบทางหลวงที่สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ”

107 ปี กรมทางหลวง

กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มีภารกิจหลักในการก่อสร้างและบำรุงรักษาทางหลวง อำนวยความสะดวก ปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้ใช้ทางรวมถึงพัฒนาโครงข่ายทางหลวง เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ เสริมสร้างความเจริญด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (อ่านต่อหน้า 18)