ไทยซัมมิทฯเน้นบริหารต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน โหมลุงทุนตปท.เล็งขยายโรงงานเพิ่ม

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริษัท ไทยซัมมิท ออโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด เปิดเผยว่า ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัวรับกับโลกยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพิ่งตื่นตัวตอนนี้ หรือต้องรอให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริด หรือปลั๊ก-อิน ไฮบริด

“การปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เด่นชัดที่สุด คือความพยายามทำต้นทุนผลิตให้ต่ำ และสร้างผลกำไรต่อชิ้นให้มาก โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมในช่วงที่ผ่านมบริษัททำกำไรต่อยอดขายเปรียบเทียบกับเมื่อปีที่แล้ว โตขึ้นเกือบเป็นเท่าตัว เรียกว่าเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว”

รองประธานกรรมการ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ไทยซัมมิทฯเน้นมากที่สุดก็คือ คุณภาพของสินค้าที่ออกจากโรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน ซึ่งกว่าจะทำให้เข้าเงื่อนไขแบบนี้ ต้องลงทุนต่อปีประมาณ 5-6 พันล้านบาท

ล่าสุดไทยซัมมิทฯยังได้ลงทุนอีกกว่า 400 ล้านบาท ตั้งศูนย์อาร์แอนด์ดี มีแครชเทสต์ (การชน) เหมือนอย่างที่ผู้ผลิตรถยนต์เขามี ไทยซัมมิทฯส่งกันชนให้ผู้ผลิตรถยนต์เยอะ ก็ต้องเทสต์ให้ลูกค้าด้วย โดยในปีนี้ยังซื้อรถปิกอัพของลูกค้าทั้ง 5 ยี่ห้อ แล้วนำมาเคลียร์ดาวน์ทั้งหมดเลย เพื่อวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย เทคโนโลยีของแต่ละยี่ห้อว่าเป็นแบบไหน เพื่อพัฒนาชิ้นส่วนของเราให้
ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้นที่ทำ แต่ไทยซัมมิทฯในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนถือว่ารายต้นๆที่ต้องการทำทุกอย่างให้ได้มาตรฐาน

นางสาวชนาพรรณ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องหันมาเน้นเรื่องการบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน เพราะปัจจุบันชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับโรงงานผลิตรถยนต์ถ้าการแข่งขัน ที่เป็นวอลุ่มใหญ่ ๆเขาจะบังคับซื้อจากส่วนกลาง อย่างเช่นโตโยต้าเขาระบุให้ไปซื้อเหล็กหรือเม็ดพลาสติกกับโตโยต้า ทูโช่

ในส่วนระบบจัดส่งหรือโลจิสติกส์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะผู้ผลิตมีทั้งแบบที่มารับสินค้าเองและให้บริษัทจัดส่ง ดังนั้นบริษัทก็เหมือนโดนตัดหัวบังคับซื้อวัตถุดิบตัดท้ายไม่มีกำไรจากค่าขนส่ง ทำให้การแข่งขันด้านราคาเข้มข้นมากขึ้น เพราะว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเวนเดอร์ เอ, บี หรือ ซี

ขณะนี้ต้นทุนด้านวัตถุดิบและต้นทุนการขนส่งเท่ากันแล้ว จะชนะกันก็ตรงที่ใครเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากกว่า และที่น่ากังวลอีกอย่างคือ ตอนนี้คู่แข่งของเราเป็นต่างชาติทั้งนั้นด้วยส่วนเป้าหมายรายได้ปีนี้ ไทยซัมมิทฯตั้งเป้าไว้ที่ 7.7 หมื่นล้านบาท ตั้งไว้เยอะ เพราะช่วงนี้จะมีรถโมเดลใหม่ๆ ลอนช์ออกสู่ตลาดเยอะ และบริษัทก็เตรียมการสำหรับนิวโมเดล

“5 ปีจากนี้ไปตั้งเป้าไว้ที่แสนล้าน วางยอดขายต่อหัวต่อคนของพนักงานไว้ 5 ล้านบาทต่อหัวต่อปี น้อยกว่าญี่ปุ่นที่กำหนดไว้ 10 ล้านต่อคนต่อปี เพื่อทำให้ได้แสนล้าน บริษัทต้องมามองเรื่องเทคโนโลยีและเร่งประสิทธิภาพการผลิต และต้องเน้นงานต่างประเทศเพื่อบูตยอดขาย นอกจากนี้อาจจะต้องมองหาดีลเอ็มแอนด์เอ อีกสักดีลช่วงนี้ก็มีคนเสนอเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะต่างประเทศ เพียงแต่ต้องมองให้สอดรับ
กับกลยุทธ์ของไทยซัมมิทฯที่ต้องการส่งเสริมฐานการผลิตในต่างประเทศ ส่งเสริมลูกค้าของเราหรือส่งเสริมทางด้านเทคโนโลยี”

ด้านโรงงานในต่างประเทศ จะมีการลงทุนเพิ่มอีก1 โรงงานที่เคนทักกีอเมริกา ป้อนชิ้นส่วนให้กับเทสล่า ดังนั้นถ้ารถอีวีมาไทยซัมมิทฯก็พร้อม ที่อินเดียขยายเพิ่มอีก 1 โรง และอินโดนีเซียอีก 2 โรงงาน

นอกจากนี้ ไทยซัมมิทฯยังเซตตัวเองให้เป็น “เอ็มพลอเยอร์
ออฟชอยซ์” หรือบริษัทชิ้นส่วนที่คนอยากทำงานมากที่สุดคือถ้านึกถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ก็ต้องพุ่งมาที่ไทยซัมมิทฯบริษัทเรามีสวัสดิการและค่าตอบแทนที่มากกว่าอินดัสตรีสแตนดาร์ด ค่าแรงต่อวันเราทะลุ 350 บาทไปเยอะแล้ว