โอสถสภาเปิดรายได้ไตรมาส 1/2563 ฟันกำไรสุทธิกว่า 900 ล้านบาท โตขึ้น 4.2 เปอร์เซ็นต์ แตกไลน์ธุรกิจผลิตเจล จับกระแสโควิด – 19 พร้อมปรับตลาดรับเทรนดีลิเวอรี่

บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) สรุปไตรมาสแรกปี 2563 รายได้ 6.6 พันล้าน โต 5 เปอร์เซ็นต์ พร้อมปรับกลยุทธ์ใหม่รับเทรนด์ตลาดเปลี่ยน รุกโฮมดีลิเวอรี่ ปรับโรงงานแตกไลน์เจลแอลกอฮอล์ เชอร์รี่ เวลล์ เพิ่มไลน์ผลิต ซี-วิต รับตลาดฟังก์ชั่นนอลดริงก์โตแรง

นายเพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานคณะกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ แต่โอสถสภายังคงมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง จากพอร์ตสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และจากการปรับแผนรับมือล่วงหน้าก่อนที่จะมีการระบาดอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นด้านแคมเปญการตลาด การผลิต ซัพพลายเชน และการจัดส่งสินค้า ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก

            “ไตรมาสแรกที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา”

ขณะที่ภาพรวมของกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม โอสถสภามีส่วนแบ่งการตลาดรวมเพิ่มขึ้นเป็น 54เปอร์เซ็นต์ โดยมีแบรนด์เอ็ม-150 มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ มีอัตราเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใส่ใจสินค้าเพื่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แบรนด์ ซี-วิต มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 31.3เปอร์เซ็นต์ และช่วยผลักดันให้ภาพรวมตลาดฟังก์ชั่นนอลดริงก์ในไตรมาสแรกเติบโตถึง 16.1เปอร์เซ็นต์

            อย่างไรก็ตามบริษัทได้วางกลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤตที่มีการปรับแผนใหม่ โดยเลือกโฟกัสในธุรกิจที่เป็นคอร์บิสซิเนส เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง เอ็ม-150 เครื่องดื่มวิตามินซี ซี-วิต เพื่อทำให้แบรนด์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจากในภาวะวิกฤตผู้บริโภคมักจะเลือกซื้อแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจมากกว่าแบรนด์อื่นๆ และร้านหรือช่องทางจำหน่ายเองก็เลือกที่จะสต๊อกสินค้าดังกล่าว เพราะมั่นใจว่าจะขายได้

ขณะเดียวกัน ในสินค้าหรือแคทิกอรี่ที่กำลังเติบโตมีดีมานด์สูง จะหันไปให้ความสำคัญมากขึ้น เช่น สินค้าสุขภาพและสุขอนามัย มีการแตกไลน์โปรดักต์เจลและสเปรย์ทำความสะอาดมือ ภายใต้แบรนด์เบบี้ มายด์ และโอเล่ ตลอดจนการแตกแบรนด์ใหม่เชอร์รี่ เวลล์เจลแอลกอฮอล์ที่มีราคาเข้าถึงง่าย

            รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในช่องทางออนไลน์ การทำโฮมดีลิเวอรี่เพื่อรับกับโอกาสในช่วงล็อกดาวน์ที่คนอยู่บ้านกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ สลิมม่าเครื่องดื่มผสมใยอาหาร แอล-คาร์นิทีน และวิตามินบี หรือเปปทีน โกลด์ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีการเติบโตจากช่องทางนี้มากขึ้น

            ขณะเดียวกัน ในส่วนของโรงงานมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของแบรนด์ซี-วิตที่โรงงานอยุธยา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มจากเดิมอีก 10-15 เปอร์เซ็นต์ ส่วนด้านของโรงงานผลิตในเมียนมา

สำหรับตลาดต่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ภาพรวมมีการเติบโตเกือบทุกประเทศยกเว้นยุโรป โดยธุรกิจเครื่องดื่มมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเครื่องดื่มชูกำลังในซีแอลเอ็มวี ที่บริษัทเป็นผู้นำตลาดในลาวและเมียนมา ส่วนในเวียดนามที่เพิ่งขยายตลาดเข้าไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เมื่อเจอกับสถานการณ์ไวรัสทำให้ดีกรีการทำตลาดต้องลดลง ส่วนสินค้าเพอร์ซันนอลแคร์เติบโตลดลงโดยเฉพาะกลุ่มบิวตี้ที่อาจไม่ได้เป็นแคทิกอรี่ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในช่วงนี้