เปิดวิสัยทัศน์อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 32 “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” งัดยุทธศาสตร์ปี 2561-2564 วางงบกว่า 100,000 ลบ. พัฒนาเส้นทาง เร่งประมูลโครงงานเสร็จทันเบิกจ่ายไตรมาสแรก

กรมทางหลวงพร้อมลุยโครงการใหม่ ปี 2562 กว่า 1 แสนล้าน เชื่อมอีอีซี เขตเศรษฐกิจพิเศษ ขยาย 4 เลน ได้ผู้รับเหมาภายในธ.ค.

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 32 เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์และงบประมาณของกรมทางหลวงว่า ปี 2562 กรมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 117,138.84 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 11,518 ล้านบาท ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนโครงการใหม่ประกอบด้วยโครงการแผนบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 69,816 ล้านบาท หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 24,793 ล้านบาท หรือ 21เปอร์เซ็นต์

“ปัจจุบันกรมกำลังเร่งประมูลโครงการใหม่ในปีงบประมาณปี 2562 มีโครงการขนาดใหญ่ประมาณ 80-90 โครงการ ตอนนี้ประมูลไปได้ 80 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าเดือนธ.ค.จะประมูลและเซ็นสัญญาได้เพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายไตรมาสแรกของปี 2562”

อย่างไรก็ตามภายในเดือนนี้คาดว่าจะออกประกาศประมูลก่อสร้างทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์ สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงแรกจากวงแหวนรอบนอกตะวันตก-เอกชัย สร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บนถนนพระราม 2 ระยะทาง 10.8 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาทซึ่งได้รับงบประมาณก่อสร้างในปี 2562-2564 แล้วจากทั้งโครงการมีระยะทาง 75 กม. วงเงินลงทุน 89,000 ล้านบาท โดยช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 21.2 กม. อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP และทดสอบความสนใจภาคเอกชน ซึ่งจะรวมถึงงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางตลอดเส้นทางด้วย คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในไตรมาสแรกปี 2562

นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เฟสแรกที่จะดำเนินการแบ่งประมูล 3 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 2,500-4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าจะให้ได้ผู้รับเหมาภายในเดือนธ.ค เพื่อให้ทันก่อสร้างในปี 2562 และแล้วเสร็จในปี 2564

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนมอเตอร์เวย์สายใหม่ที่จะดำเนินการเพิ่มเติม มีสายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 60,716 ล้านบาท และค่าเวนคืน 18,290 ล้านบาท สร้างเป็นทางตัดใหม่ ปัจจุบันคณะกรรมการ PPP อนุมัติโครงการแล้ว โดยเปิดให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบสัมปทาน PPP net cost เมื่อเดือนก.ย. ปี2561 อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติจาก ครม. ตามแผนดำเนินการก่อสร้างปี 2563-2566

สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 71.5 กม. วงเงินลงทุน 37,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างรออนุมัติรายงานอีไอเอ และศึกษารูปแบบร่วมทุน PPP คาดว่าจะแล้วเสร็จเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ตามแผนจะดำเนินการในปี 2564-2567

โครงการส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 29,400 ล้านบาท สร้างเป็นทางยกระดับบนถนนพหลโยธิน ปัจจุบันรออนุมัติอีไอเอ และศึกษารูปแบบร่วมทุน PPP คาดว่าจะแล้วเสร็จ เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในไตรมาสที่3 ปี 2562

อย่างไรก็ตามส่วนของปี 2561 กรมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 105,620 ล้านบาท แยกเป็น รายจ่ายประจำ 6,033 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 99,586 ล้านบาท ปัจจุบันเบิกจ่ายแล้ว 79,830 ล้านบาท คิดเป็น 75.58 เปอร์เซ็นต์ และยังรอเบิกจ่ายอีก 24,174 ล้านบาท คิดเป็น 22.89เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลที่ตั้งไว้ 20.42 เปอร์เซ็นต์

ผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2561 ผลักดันโครงการก่อสร้าง 156 โครงการ ได้แก่ มอเตอร์เวย์ 3 สายทาง คือ บางปะอิน-นครราชสีมา, บางใหญ่-กาญจนบุรี และพัทยา-มาบตาพุด, โครงการพัฒนาทางหลวงรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้รับงบปี 2557-2561 จำนวน 12 โครงการ ระยะทาง 242 กม. วงเงิน 11,062 ล้านบาท

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M82 สายบางขุนเทียน – ปากท่อ

อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่อยู่ในแผนพัฒนาเส้นทางของกรมทางหลวง คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข M82 สายบางขุนเทียน – ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน  – บ้านแพ้ว มีความจำเป็นเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะ 20 ปี ระหว่างปี 2560 – ปี 2579

“อานนท์ เหลืองบริบูรณ์”  อธิบดีกรมทางหลวงคนใหม่  เร่งแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบทางหลวง ที่สะดวก ปลอดภัย เชื่อมโยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

สำหรับโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดบนถนนทางหลวงหมายเลข  35  (ถนนพระราม  2) ในการเดินทางลงสู่พื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณของ และเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาบริหารจัดการโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมทางหลวงจึงเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ที่ มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง  สายบางขุนเทียน – ปากท่อ ช่วงบางขุนเทียน – บ้านแพ้วโดยโครงการ มีรูปแบบเป็นทางยกระดับบน เกาะกลางของถนน ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ  3  ช่องจราจร) โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณบางขุนเทียน  เชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษ สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และสิ้นสุดโครงการบริเวณก่อนถึงแยกบ้านแพ้ว  ( จุดตัดทางหลวงหมายเลข 3097 )   ประมาณ 2 กิโลเมตร รวมระยะทาง ทั้งโครงการประมาณ 25 กิโลเมตร โดยกำหนดให้มีด่านเก็บค่าผ่านทางไว้ 6 แห่ ง และศูนย์บริหารทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของกรมทางหลวง(CCB)1 แห่งโครงการแบ่งขอบเขตการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนไว้ 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 การก่อสร้างโครงการ ภาครัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนเพิ่มเติมจากเขตทางเดิมของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข  35  ตลอดทั้งโครงการ และ เป็นผู้ก่อสร้างงานโยธา รวมถึงงานทางและโครงสร้างทางยกระดับ ตั้งแต่บางขุนเทียน ถึง เอกชัย   ระยะทางประมาณ 10  กิโลเมตร ต่อจากโครงการทางพิเศษ สายพระราม  3  –  ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้าน

ระยะที่ 2 ดำเนินงานและบำรุงรักษา เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบ การดำเนินงานและบำรุงรักษาตลอดทั้งโครงการ ตั้งแต่บางขุนเทียน ถึง บ้านแพ้ว ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งรัดการดำเนินโครงการ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด กรมทางหลวงจะเริ่มก่อสร้างงานโยธาตั้งแต่บางขุนเทียน ถึง เอกชัย  ระยะทางประมาณ  10  กิโลเมตร ภายในต้นปี  2562 โดยอาศัยแหล่งเงินงบประมาณแผ่นดิน สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนที่เหลือ กรมทางหลวงจะสรุปรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ พร้อมเสนออนุมัติรูปแบบการร่วมลงทุนฯ ภายในต้นปี 2562  และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุนได้ภายในปี 2562 เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการโครงการได้ทั้งหมดภายในปี 2566