เปิดวิสัยทัศน์อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 32 “อานนท์ เหลืองบริบูรณ์” กำหนดยุทธ์ศาสตร์ขับเคลื่อน 5 ด้าน สู่ 107 ปีของการพัฒนาองค์กรสู่ยุค 4.0

กรมทางหลวงหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมมากว่า 107 ปี มีหน้าที่ก่อสร้าง ควบคุม บูรณะ และบำรุงรักษาทางหลวง,ทางหลวงพิเศษ,ทางหลวงแผ่นดิน,และทางหลวงสัมปทาน เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยในทางหลวงทั่วประเทศ

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 32 เปิดเผยว่า ในปี2562 กรมทางหลวงได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนไว้ทั้งหมด 5 ด้าน คือ ด้านที่ 1 พัฒนาโครงข่ายทางหลวงและทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์ภาคการขนส่ง ด้านที่ 2 พัฒนาโครงข่ายทางหลวงเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้านที่ 3 พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพทางหลวง ด้านที่ 4 พัฒนาและดูแลรักษาทางหลวงให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยในระดั บสากล และ ด้านที่ 5 ปรับปรุงการบริหารจัดการองค์การพัฒนาบุคลากรตอบสนองสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

ขณะเดียวกันยังมีการประชุมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการบริหารตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงกรอบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม ยุทธศาสตร์ของกรมทางหลวง มุ่งเน้นประเด็นสำคัญในการพัฒนาองค์กร เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเหมาะสมเกิดความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรและเทคโนโลยีด้านต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ มีศักยภาพสนับสนุนการดำเนินงานในบริบทต่างๆได้อย่างรวดเร็วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

ดังนั้น จึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้บริหารในการถ่ายทอดเป้าหมายและกำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติงานในทุกระดับขององค์กรให้มีความถูกต้องชัดเจน สร้างความร่วมมือและพัฒนาประสิทธิผลของงานได้ตามเป้าหมายภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนดขององค์กร

            อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 32 เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์และงบประมาณของกรมทางหลวงในปี 2562 กรมได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 117,138.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 11,518 ล้านบาท คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนโครงการใหม่ประกอบด้วยโครงการแผนบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 69,816 ล้านบาท หรือ 60 เปอร์เซ็นต์ แผนงานพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 24,793 ล้านบาท หรือ 21เปอร์เซ็นต์

            “ปัจจุบันกรมกำลังเร่งประมูลโครงการใหม่ในปีงบประมาณปี 2562 มีโครงการขนาดใหญ่ประมาณ 80-90 โครงการ ตอนนี้ประมูลไปได้ 80 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าเดือนธ.ค.จะประมูลและเซ็นสัญญาได้เพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายไตรมาสแรกของปี 2562”

อย่างไรก็ตามภายในเดือนนี้คาดว่าจะออกประกาศประมูลก่อสร้างทางหลวงพิเศษมอเตอร์เวย์ สายธนบุรี-ปากท่อ ช่วงแรกจากวงแหวนรอบนอกตะวันตก-เอกชัย สร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร บนถนนพระราม 2 ระยะทาง 10.8 กม. วงเงิน 10,500 ล้านบาทซึ่งได้รับงบประมาณก่อสร้างในปี 2562-2564 แล้วจากทั้งโครงการมีระยะทาง 75 กม. วงเงินลงทุน 89,000 ล้านบาท โดยช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 21.2 กม. อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP และทดสอบความสนใจภาคเอกชน ซึ่งจะรวมถึงงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทางตลอดเส้นทางด้วย คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในไตรมาสแรกปี 2562

            นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เฟสแรกที่จะดำเนินการแบ่งประมูล 3 สัญญา เฉลี่ยสัญญาละ 2,500-4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าจะให้ได้ผู้รับเหมาภายในเดือนธ.ค เพื่อให้ทันก่อสร้างในปี 2562 และแล้วเสร็จในปี 2564

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนมอเตอร์เวย์สายใหม่ที่จะดำเนินการเพิ่มเติม มีสายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 60,716 ล้านบาท และค่าเวนคืน 18,290 ล้านบาท สร้างเป็นทางตัดใหม่ ปัจจุบันคณะกรรมการ PPP อนุมัติโครงการแล้ว โดยเปิดให้เอกชนร่วมทุนรูปแบบสัมปทาน PPP net cost เมื่อเดือนก.ย. ปี2561 อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขออนุมัติจาก ครม. ตามแผนดำเนินการก่อสร้างปี 2563-2566

            สายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 71.5 กม. วงเงินลงทุน 37,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างรออนุมัติรายงานอีไอเอ และศึกษารูปแบบร่วมทุน PPP คาดว่าจะแล้วเสร็จเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ตามแผนจะดำเนินการในปี 2564-2567

โครงการส่วนต่อขยายช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กม. เงินลงทุน 29,400 ล้านบาท สร้างเป็นทางยกระดับบนถนนพหลโยธิน ปัจจุบันรออนุมัติอีไอเอ และศึกษารูปแบบร่วมทุน PPP คาดว่าจะแล้วเสร็จ เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในไตรมาสที่3 ปี 2562