เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จัดทัพนำ 25 โรงงาน โกยรางวัล CSR-DIW Continuous Award ประจำปี2562 จากกระทรวงอุตสาหกรรม

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพบนมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและกระบวนการทำงานที่รับผิดชอบต่อสังคม  

ล่าสุดสถานประกอบการ 25 โรงงานของซีพีเอฟได้รับเกียรติบัตรและโล่รางวัล CSR-DIW Continuous Award ประจำปี 2562 จากนายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า รางวัล CSR – DIW Continuous Award สะท้อนความทุ่มเทและความตั้งใจขององค์กรในการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคม การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน ตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของชุมชน ยึดมั่นนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือดูแลสังคมอย่างต่อเนื่อง

            ซีพีเอฟพร้อมปรับตัวตามทิศทางของกระแสโลกและนโยบายรัฐบาล เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในมิติต่างๆ เช่น การนำแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy เข้ามาใช้ในการผลักดันความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ตลอดกระบวนการผลิต รวมถึงการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

            สำหรับสถานประกอบการของซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน สอดคล้องตามแนวทางสากล ISO 26000 ครอบคลุมประเด็นหลัก 7 ด้าน คือ การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน เช่น ดำเนินโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง โครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต โครงการปลดหนี้ สร้างสุข และส่งเสริมการออม เป็นต้น ขณะเดียวกันยังดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals)

            รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวต่อว่าบริษัทให้ความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยยกตัวอย่างเช่นโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง (Contract Farming’s Impact Valuation) เป็นโครงการที่ได้รับการทวนสอบจากบริษัทผู้ทวนสอบด้านความยั่งยืนชั้นนำระดับโลก พบว่าเกษตรกรมีคุณภาพชีวิต รายได้และสังคมที่ดีขึ้น ตลอดจนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โครงการดังกล่าวได้ทำการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่งเพื่อให้เห็นผลลัพธ์อย่างชัดเจนตามหลักการสากล โดยใช้วิธี Impact Valuation ที่จะตีมูลค่าผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของโครงการออกมาเป็นมูลค่าเงิน

            อย่างไรก็ตามจากผลการประเมินผลกระทบด้านสังคมของโครงการคอนแทร็คฟาร์มมิ่ง พบว่า 1. เกษตรกรมีเวลาว่างอยู่กับลูกและครอบครัวมากขึ้น จากเดิม 1.9 ชม./วัน เพิ่มเป็น 4.3ชม./วัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลดปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากปัญหายาเสพติดในเยาวชน 2. โครงการฯ สามารถลดสัดส่วนเกษตรกรที่มีค่าครองชีพต่ำกว่าเส้นความยากจนลงจากเดิม 38เปอร์เซ็นต์ เป็น 0เปอร์เซ็นต์ และ 3. เกษตรกรถึง 85เปอร์เซ็นต์ มีความสามารถส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน

             สำหรับผลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าการใช้ไฟฟ้าและเชื้อเพลิงในการเลี้ยงสุกรนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในด้านก๊าซเรือนกระจก แต่ฟาร์มเกือบทั้งหมดของเกษตรกรซีพีเอฟมีการทำระบบไบโอแก๊ส (Biogas) ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้วพบว่า ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงกว่า 92,000 ตัน CO2 /ปี