“ออมสิน”ปั้นนักรบความคิดพันธุ์ใหม่ยุค 4.0

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยว่าตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และ SMEs Startup ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยที่ธนาคารออมสิน ได้นำนโยบายมาร่วมผลักดันและสนับสนุน SMEs และ SMEs Startup อย่างจริงจังต่อเนื่อง  เริ่มต้นจากการปรับกระบวนคิดและการปฏิบัติภายในธนาคารให้เป็น Customer Centric มุ่งลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งเพิ่มโครงสร้างใหม่ดูแลกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ (กลุ่มลูกค้าธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ) อีกทั้งยังมีโครงการสนับสนุนร่วมมากมาย ตั้งแต่เริ่มต้นจุดประกายความคิด ระดมสมอง หาจุดเริ่มต้นกิจการ เป็นแหล่งทุนไปจนถึงเป็นผู้ร่วมลงทุน อาทิ โครงการประกวดแผนธุรกิจ “GSB สุดยอด SMEs Startup ตัวจริง” เวทีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจ

กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 การจัดตั้งกองทุน SMEs Private Equity Trust Fund โครงการ Smart Start Idea ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยให้ความรู้ นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ ด้าน SMEs เพื่อให้มีนวัตกรรม ตลอดจนการให้สินเชื่อในวงเงินที่เหมาะสมและดอกเบี้ยต่ำซึ่งยังไม่รวมการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และแนะนำข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ มากมายอย่างต่อเนื่องมากว่า 4 ปี และกลไกที่ทำให้เข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกมากขึ้นคือ การจัดตั้งศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ซึ่งเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและอำนวยความสะดวกในการอำนวยสินเชื่อให้แก่กลุ่ม Startup และพร้อมจะดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง พร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้บริการได้ครบทั้ง 82 ศูนย์แล้วทั่วประเทศ

สำหรับผลการดำเนินงานที่ธนาคารออมสินสนับสนุนการให้สินเชื่อธุรกิจ SMEs ประเภทสินเชื่อ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ณ วันที่ 30 มิถุนายนปี 2561) มีจำนวน 42,432 ราย วงเงินกู้ 123,293 ล้านบาท สินเชื่อ SMEs Startup วงเงินกู้ 1-10 ล้านบาท มีจำนวน 949 ราย วงเงินกู้ 3,042 ล้านบาท

นายชาติชาย เปิดเผยเพิ่มเติมว่าส่วนการจัดตั้งและร่วมลงทุนใน SMEs Private Equity Trust Fund จำนวน 3 กอง วงเงินลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมสนับสนุนผ่านการระดมทุนเสริมความแข็งแกร่งนั้น มีการร่วมอนุมัติลงทุนแล้ววงเงิน 361.2 ล้านบาท จ่ายเงินลงทุนไปแล้ว 195 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจาและพิจารณาคิดเป็นวงเงินเกือบ 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามธนาคารออมสินมุ่งเป็นแหล่งทุนสนับสนุน นโยบายรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนระดับฐานรากและ SMEs เข้าถึงรวมถึงการให้ความรู้ทางการเงินความมีวินัยทางการเงิน มีการออม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชน เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการสร้างรวบรวมเผยแพร่ให้ความรู้ในรูปแบบต่างๆมากมายเพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไป