ส.อ.ท. วอนรัฐพิจารณาการปรับค่าแรงใหม่ หวั่นทำโครงสร้างเสียส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจ SMEs

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ ชี้ทำโครงสร้างอัตราค่าแรงเสียทั้งระบบ อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs ถึงขั้นปิดกิจการ ส่วนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ตัวจริงคือแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน เสนอให้ภาครัฐหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานไทย ย้ำชัดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบทันที ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

            นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศนั้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs อาจถึงขั้นเลิกกิจการเพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว โดยกระบวนการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกต้องนั้น จะต้องผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี และในแต่ละพื้นที่จะมีค่าแรงไม่เท่ากันตามเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ และจะกำหนดเป็นราคาเดียวทั่วประเทศไม่ได้

ขณะที่สถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบัน(ผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดือนมิถุนายน ปี 2562) พบว่า มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.82 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 38.38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.63 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.3 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 1.0 หมื่นคน (จาก 38.37 ล้านคน เป็น 38.38 ล้านคน) ผู้ว่างงานลดลง 6.3 หมื่นคน (จาก 4.26 แสนคน เป็น 3.63 แสนคน) ขณะที่ปริมาณแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศไทย (สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร ประจำเดือนมิถุนายน 2562 กรมการจัดหางาน) มีจำนวนทั้งสิ้น 3,268,285 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทั่วไป 2.98 ล้านคน แรงงานประเภทฝีมือ 1.79 แสนคน แรงงานตลอดชีพ 241 คน ชนกลุ่มน้อย 6.2 หมื่นคน และแรงงานไป-กลับ ตามฤดูกาลอีก 4.33 หมื่นคน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ คือแรงงานต่างด้าวที่จะขนเงินกลับประเทศ ทำให้ค่าแรงส่วนนี้ไม่กลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเห็นว่าค่าแรงปัจจุบันของคนไทยส่วนใหญ่มีอัตราที่เหมาะสมอยู่แล้ว ควรผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ สนับสนุนให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ โดยแต่ละอุตสาหกรรมและในแต่ละจังหวัดสามารถจ่ายค่าแรงที่แตกต่างกันได้ตามกลไกตลาด จึงไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงโดยทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ นายสุพันธุ์ กล่าว