สู่ 47 ปี การเคะแห่งชาติ วางแผนแม่บทระยะ 20 ปี มุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่กับคุณภาพชีวิตประชาชน

การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินงานก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 ปี เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตประชาชน จัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ระหว่างปี 2560-2579 ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

            นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 46 ปี และเตรียมก้าวสู่ปีที่ 47 การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งสิ้นจำนวน 734,183 หน่วย ประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 279,977 หน่วย โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด (ปรับปรุงชุมชนในที่ดินเดิมและจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่) 233,964 หน่วย โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน 165,723 หน่วย โครงการเคหะข้าราชการ 50,708 หน่วย โครงการสำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏ 2,374 หน่วย โครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภาคใต้ 845 หน่วย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 จำนวน 334 หน่วย และโครงการแก้ไขวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ 258 หน่วย

              นอกจากนี้การเคหะยังได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี หว่างปี 2560-2579เพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยมีผลงานไฮไลท์หลายโครงการที่สามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ของรัฐได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง นับเป็นผลงานเด่นที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด

              ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคหะมุ่งก้าวสู่การเป็น ปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรมด้วยการเน้นคุณภาพ การดำเนินงานในด้านต่างๆ ทั้งด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย ด้านการก่อสร้าง ด้านการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร และด้านบริการ รวมถึงการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทั้งด้านการออกแบบที่อยู่อาศัย ด้านการก่อสร้าง ด้านการตลาด และด้านการเงิน

               ปัจจุบันแนวทางการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยของการเคหะกำหนดไว้มี 5 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง มีเป้าหมายเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 38,562 หน่วย

               โครงการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์และส่งเสริมสมรรถนะให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้โครงการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและแผนป้องกัน/แก้ไขปัญหาชุมชนแออัด เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง ตามพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี2542 โดยมีกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย 19 กลุ่ม 73 พื้นที่

               โครงการเคหะประชารัฐร่วมทุน เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยกับการเคหะแห่งชาติ 3 รูปแบบ ทั้งโครงการร่วมลงทุนกับเอกชน โครงการร่วมดำเนินกิจการระหว่างภาครัฐและเอกชน และโครงการร่วมสนับสนุนภาคเอกชน และโครงการบ้านล้านหลัง โดยจะพัฒนาบ้านโครงเหล็ก ให้มีการออกแบบ Universal Design และเป็นบ้านประหยัดพลังงาน เพิ่มทางเลือกให้ผู้มีรายได้น้อยซื้อเป็นเจ้าของ

               “การเคหะแห่งชาติมุ่งมั่นพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนและเมือง พร้อมขับเคลื่อนงานให้เป็นการเคหะแห่งชาติ 4.0 โปร่งใส ทันสมัย ใส่ใจประชาชน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ พร้อมทั้งบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งนำนวัตกรรมใหม่ๆ สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรและองค์กรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็นปีแห่งคุณภาพและนวัตกรรมในปี 2562 นี้

กคช.ก้าวสู่ปีที่47

การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ปี2516 ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 316 ดำเนินงานภายใต้พระราชบัญญัติ การเคหะแห่งชาติ ปี 2537 และฉบับ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ปี2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีเคหะ เพื่อให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย พร้อมทั้งจัดให้มีระบบ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ สิ่งอำนวยความสะดวก แก่ผู้อยู่อาศัย ทำนุบำรุง ปรับปรุง และพัฒนาผู้อยู่อาศัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนที่ประสงค์จะมีเคหะของตนเอง หรือผู้ที่ประสงค์จะร่วมดำเนินกิจกรรมกับการเคหะแห่งชาติในการจัดให้มีเคหะเพื่อให้ประชาชนเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อ และประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ การก่อสร้าง อาคารหรือจัดหาที่ดิน การปรับปรุง รื้อ หรือย้ายแหล่งเสื่อมโทรม เพื่อให้มีสภาพการอยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่ดีขึ้น วัตถุประสงค์การเคหะแห่งชาติ