สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเผยยุทธ์ศาสตร์สมาคมฯปี 2561-2563

สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย หรือ TAPMA เผยยุทธศาสตร์สมาคมปี 2561-2563 เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง และกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลก

นางอัชณา ลิมป์ไพฑูรย์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาสมาคมมีการดำเนินงานอันก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและประเทศอย่างต่อเนื่อง มีการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หรือการเปลี่ยนแปลงตามระบบเศรษฐกิจโลก โดยยังคงมุ่งมั่นในการช่วยผลักดันอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ให้เจริญเติบโต แข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอย่างยั่งยืนโดยจัดทำยุทธศาสตร์สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

สำหรับปี 2561 – 2563 แบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1. สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร สร้างคน เน้นจริยธรรม พัฒนาระบบงาน มุ่งเน้นการบริหาร งานที่เข็มแข็ง ประสานความร่วมมือ ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ดูแลเรื่องการเงินของสมาคมฯ เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ 2. ให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี,นวัตกรรม และมาตรฐาน การสร้างความสามารถด้านเทคโนโลยีของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ให้เกิดขึ้นด้วยการเชื่อมโยงหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้มาสนับสนุน 3. เพิ่มขีดความสามารถมนุษย์ พัฒนาศักยภาพความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรมให้มีทักษะฝีมือ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีระเบียบวินัย ตอบแทนสังคมและองค์กร 4. สร้างความเข้มแข็งในการทำธุรกิจในระดับสากล เน้นและพัฒนาการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างประเทศ 5.การบริหารจัดการให้ SMEs ก้าวสู่ความเข้มแข็งทางธุรกิจ ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs แข็งแกร่งด้วยการบริหารจัดการ และ 6. สนับสนุนและส่งเสริมการส่งออก (Support and promote export) เพิ่มโอกาส ช่องทาง และประสานความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ที่สนใจเรื่องการส่งออกให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน

นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการส่งออกที่แข็งแกร่งดังจะเห็นได้จากตัวเลขตลาดรวมที่สูงโดยไทยถือเป็นอันดับ 1 ในการผลิตเพื่อการส่งออก รองลงมาเป็น อินโดนีเซีย, มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ตามยุทธศาสตร์ที่เราวางไว้ เราตั้งเป้าการฝึกฝนบุคลากรในสายอาชีพเพื่อรองรับการเติบโตที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่เราพัฒนาบุคลากรร่วมกับทาง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในปี 2559 – 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้บุคลากรในสายอาชีพ จำนวน 5,949 คน โดยในปี 2561 เป็นต้นไป เราตั้งเป้าหมายไว้ที่ปีละ 4,000 คน