ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ คว้ารางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงาน 11 ปี ต่อเนื่อง ยึดปรัชญาบริหาร TPM

บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาชนะใส่อาหารเมลามีนซูเปอร์แวร์ เข้ารับรางวัลสถานประกอบกิจการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานติดต่อกันเป็นปีที่ 11 ประเภทมีสหภาพแรงงานในกิจการขนาดกลาง จากกระทรวงแรงงาน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงแนวความคิดการบริหารว่า บริษัทมุ่งเน้นให้พนักงานมีแนวความคิดดังกล่าวด้วยว่าไม่มีสิ่งใดดีที่สุด ต้องมีการหาสิ่งใหม่เสมอ จึงเกิดเป็นปรัชญาการบริหาร TPM โดย T คือ Technology จะต้องมีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น ศรีไทยฯ เป็นผู้ผลิตเมลามีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

P คือ People ต้องลงทุนเสริมสร้างศักยภาพคน บางบริษัทอาจส่งคนไปเรียนสถาบันมีชื่อในต่างประเทศไม่กี่คน และนำมาถ่ายทอด แต่ศรีไทยฯ ลงทุนนำผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาสอนให้พนักงานทุกคนถึงที่ ส่วน M คือ Management ที่ศรีไทยฯ มีระบบการจัดการโดยใช้ LEAN หลักการ คือทำงานต้องไม่เปลืองทรัพยากรคนและวัตถุดิบและเน้นประสิทธิภาพออกมาให้สูงที่สุด กล่าวคือ ระบบการผลิตการตลาดต้องเป็นจริง ตรวจสอบได้ทันที เช่น เครื่องจักรต้องรู้ว่าจุดไหนหยุดผลิตและเพราะอะไร ฝ่ายการตลาดต้องเช็กยอดสินค้าและรู้ต้นทุนได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามีปัญหาจะต้องหาผู้รับผิดชอบได้ทันที ปรัชญาสุดท้ายเราต้องทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าทำไม่ได้ อย่างเช่น ฝาปิดขวดน้ำที่บางและเบาที่สุด หรือภาชนะที่สามารถนำขึ้นไปใช้ที่ดวงจันทร์ได้ เราก็เป็นผู้ผลิตขึ้นมาให้นาซ่า ถ้าอนาคตมีความต้องการใช้จริงเขาจะต้องการสินค้าของเราเอง วิธีคิด คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ฮึกเหิมกับทั้งตัวผมและพนักงาน

ทั้งนี้บริษัทได้ปรับโครงสร้างเพื่อฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นผลกระทบจากโรคระบาดโควิด -19 จึงตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ มีด้วยกัน 3 ด้าน  คือ กรณีแรก เปิดโอกาสให้พนักงานที่ใกล้เกษียณอายุ สามารถเกษียณอายุได้ก่อน โดยจะจ่ายค่าชดเชยให้ในจำนวนเงินที่สูง ซึ่งวิธีในรูปแบบนี้ถือว่าเป็นทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กร โดยเปิดรับพนักงานรุ่นใหม่ในระดับผู้บริหารอายุ 40 ปีขึ้นไปเข้าร่วมงานในองค์กร เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและนำทัพองค์กรก้าวสู่ดิจิทัล

กรณีที่2 คือ ให้พนักงานจำนวน 600-700 คน พักการทำงานชั่วคราว ส่วนนี้ประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้ 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าแรง แต่ไม่เกิน 90 วัน หากรัฐบาลไม่ต่อมาตรการดังกล่าว อาจต้องพิจารณาเลิกจ้างในสเต็ปถัดไป นอกจากนี้ ยังปรับเงินเดือนบุคลากรที่มีเงินเดือนสูง โดยเฉลี่ย 10-40เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค. ซึ่งการปรับโครงสร้างด้านบุคลากรในครั้งนี้ บริษัทได้สื่อสารให้บุคลากรเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและทุกคนต้องฝ่าวิกฤติร่วมกัน

การแพร่ระบาดไวรัสของโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธุรกิจของศรีไทยซุปเปอร์แวร์ได้รับผลกระทบจากยอดออร์เดอร์ลดลงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สำหรับรายได้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา 1,923 ล้านบาท หดตัวลง 20.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2,414 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้ของบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้ 305 ล้านบาท หดตัวลง 37 เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อปีที่ผ่านมาราว 484 ล้านบาท 2.ผลิตภัณฑ์เพื่องานอุตสาหกรรม ไตรมาสแรก ปี 2563 มีรายได้ 1,558 ล้านบาท หดตัว 18.5เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อปีที่ผ่านมาราว 1,912 ล้านบาท และ 3.แม่พิมพ์และอื่นๆ ไตรมาสแรก ปี 2563 มีรายได้ 60 ล้านบาท มีอัตรการเติบโตเพิ่มขึ้น 233.3 เปอร์เซ็นต์จากเมื่อปีที่ผ่านมาราว 13 ล้านบาท

            จากตัวเลขรายได้ไตรมาสแรกนั้น บริษัทมองว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากนัก แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาส 2 เริ่มได้รับผลกระทบเต็มที่ และต้องประเมินสถานการณ์ในไตรมาส 3 ดังนั้น ประมาณการว่ารายได้ของบริษัททั้งปีอยู่ในภาวะหดตัว 20-25 เปอร์เซ็นต์ จากเมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้กว่า 8,900 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ธุรกิจของบริษัทในต่างประเทศ ในอินเดียมีโรงงาน แต่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นาทีนี้ขอแค่บริษัทประคองตัวอยู่ได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพารายได้จากประเทศไทยก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนในเวียดนามนั้น ธุรกิจไปได้ดีและมีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเศรษฐกิจของเวียดนามยังมีอัตราการเติบโตที่ดี และธุรกิจในประเทศเมียนมาค่อยๆ เติบโต แต่ยังเป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็ก สำหรับธุรกิจในอินโดนีเซียอยู่ในภาวะที่สดใสและยังสร้างกำไรให้กับบริษัท โดยปี 2565 มั่นใจว่าศรีไทยซุปเปอร์แวร์จะมีโอกาสทางธุรกิจมากมายและมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด