วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) รีแบรนด์ – ปรับสูตร ชิงตลาดผลิตภัณฑ์ข้าวโพด มูลค่า 400 ลบ.

บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวโพด  รีแบรนด์น้ำนมข้าวโพด พร้อมปรับสูตร-ฉลากใหม่ หวังย้ำโพซิชั่นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หลังนิวนอร์มอลกระตุ้นดีมานด์เครื่องดื่มสุขภาพพุ่ง มั่นใจช่วยขยายฐานลูกค้าพร้อมเพิ่มส่วนแบ่งตลาดน้ำนมธัญพืชและข้าวโพดมูลค่า 400 ล้านบาท

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้รีแบรนด์ตราสินค้าน้ำนมข้าวโพดจาก V Corn เป็น V Farm เพื่อตอกย้ำ brand positioning เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพของ V Farm ขณะเดียวกันได้ปรับสูตรเพิ่มเนื้อข้าวโพดโดยยังคงจุดขายไม่ผสมแป้ง นมผง และไม่แต่งกลิ่น

การเปิดตัวสูตรใหม่ในครั้งนี้จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งของบริษัทในตลาดน้ำนมธัญพืชและข้าวโพดได้โดยปัจจุบัน ผู้บริโภคสนใจเครื่องดื่มสุขภาพมากขึ้น  มีรสหวานน้อย หรือไม่มีน้ำตาลเลย รวมถึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยหนึ่งในกระแสที่มาแรงคือ เครื่องดื่มจากพืช หรือ plant-based beverage ซึ่งเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่แพ้นม และทานเจ จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ พัฒนาน้ำนมข้าวโพดสูตรใหม่นี้ขึ้นมา

            การรีแบรนด์และปรับสูตรครั้งนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ของบริษัท วี ฟู้ดส์ ที่มีการปรับโมเดลการขายเพิ่มหนุ่มสาววีฟาร์ม ตัวแทนจำหน่ายเพื่อเข้าถึงกลุ่มคนตามชุมชน หมู่บ้าน และให้บริการดีลิเวอรี่ด้วยแอปพลิเคชั่น GET รวมถึงเพิ่มเอสเคยูใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น มันหวานญี่ปุ่น และชุดของนึ่งเพื่อรับมือช่วงล็อกดาวน์ พร้อมจับมือบริษัทฟู้ดเทคสตาร์ตอัพ More Meat ที่ทำสินค้า plant based meat ในไทยเปิดตัวสินค้า V Corn X More Meat ซึ่งนำสินค้าของมอร์มีทมาจับคู่กับสินค้าของวี คอร์น สร้างเมนูต่าง ๆ เช่น สปาเกตตี มอร์มีท วี คอร์น ฯลฯ

“ด้านขนาดบรรจุภัณฑ์ปรับเป็นขวด PET ขนาด 220 มิลลิลิตร ราคา 19 บาท เช่นเดียวกับการออกแบบฉลากใหม่ให้มีความเป็นธรรมชาติ เห็นข้าวโพดเต็มฝัก นอกจากเรื่องรสชาติและรูปลักษณ์แล้ว ขวด PET ที่ใช้ยังสามารถนำมา recycle ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่บริษัทให้ความสำคัญในการส่งเสริมจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมในโครงการ V Foods Green”

นายอภิรักษ์  กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดน้ำนมธัญพืชและข้าวโพดมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากการบริโภคน้ำนมข้าวโพดในเมืองไทยยังน้อยเมื่อเทียบกับตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอื่น ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคยังไม่ทราบถึงประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ