วิศวะมหิดล ออกแบบหุ่นยนต์หยอดเมล็ดข้าวโพดอัตโนมัติ เพิ่มความแม่ยำ เสริมคุณภาพผลผลิต ลดภาระเกษตรกร

ทีมวิจัยนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้น  หุ่นยนต์หยอดเมล็ดข้าวโพดอัตโนมัติ ช่วยชุมชนเกษตรกรได้ผ่อนแรงพร้อมไปกับเพิ่มคุณภาพผลผลิตด้วยนวัตกรรม

            นายสุพรรณ ทิพย์ทิพากร หัวหน้าภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยคนรุ่นใหม่ได้ตอบโจทย์สมาร์ทฟาร์มยุคนิวนอร์มอล โดยได้ออกแบบ หุ่นยนต์หยอดเมล็ดข้าวโพดอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดภาระของเกษตรกรและทำหน้าที่หยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดได้แม่นยำมากขึ้น

ผลงานการออกแบบดังกล่าวเป็นของทีม ประกอบด้วย นายธัชนนท์ ภูผิวเดือน, นายธีรภัทร ศรีสุข และ นายเจตณัฐ ปัญญาหอม โดยมีนายเดชา วิไลรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และเป็นที่น่ายินดีที่นวัตกรรมนี้ได้รับรางวัลจากการประกวดนักเทคโนโลยีและนวัตกรรุ่นเยาว์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ประเภทนักศึกษา ประจำปี 2563

สำหรับจุดเริ่มต้นมาจากทางทีมวิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจวิถีเกษตรกรชุมชนศาลายา บริเวณรอบมหาวิทยาลัยมหิดล จากการพูดคุยและสอบถาม พบว่าเกษตรกรชาวบ้านจำนวนมากนิยมใช้วิธีหว่านเมล็ดข้าวโพดด้วยมือ ส่งผลให้เกิดระยะห่างระหว่างหลุมไม่เท่ากัน รวมถึงความลึกจากการหว่านก็ไม่เท่ากัน ทำให้เมล็ดพันธุ์ที่งอกเจริญเติบโตไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนานวัตกรรม “หุ่นยนต์หยอดเมล็ดข้าวโพดอัตโนมัติ” นำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาเพิ่มคุณภาพการปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี ช่วยลดภาระการทำงานของเกษตรกรและสามารถแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นได้ เช่น รดน้ำ เก็บเกี่ยว เป็นต้น

            ส่วนประกอบและอุปกรณ์ มีดังนี้ 1. โครงหุ่นยนต์เป็นอะลูมิเนียมฉาก 2.มี 4 ล้อซึ่งเป็นล้อยางตัน 3. เพลาเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว 4.แบตเตอรี่ 5. Wiper motor 6. IBT_2 (Board Drive Wiper Motor) 7. Stepper Motor 8. A4988 (Board Drive Stepper Motor) 9. Servo Motor 10. Rotary Encoder 11.ระบบซอฟท์แวร์ซึ่งทางทีม ใช้ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ระยะไกล

            จุดเด่นของ หุ่นยนต์หยอดเมล็ดข้าวโพดอัตโนมัติ  คือ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา สามารถพกพาไปได้ทุกที่โดยสามารถหว่านเมล็ดด้วยระยะเท่ากันอย่างแม่นยำ สามารถสั่งการผ่านสมาร์ทโฟนได้ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย