วิทยุการบินฯ โชว์ดีกรีมาตรฐาน ISO22301:2012 วาดแผนทุ่ม 1,200 ล.ผุดหอบังคับบินใหม่อู่ตะเภา-เบตง

วิทยุการบินฯ ได้รับรองมาตรฐาน ISO22301:2012 ระบบบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management System : BCMS) พร้อมเดินแผนลงทุน 1,200 ล้านบาทสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบิน อู่ตะเภา งบกว่า 1,000 ล้านบาท คาดเปิดใช้ปี 25662567 และลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินเบตง 200 ล้านบาท เปิดแน่ปี 2563

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยว่า บริษัทฯให้ความสำคัญต่อนโยบายความปลอดภัย จึงได้ดำเนินระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจหรือ Business Continuity Management : BCM มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับกระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยได้กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจเป็นเวลาต่อเนื่อง 7 ปี ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าสู่กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน ISO22301:2012 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา และได้ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด จนถึงเดือนธันวาคม 2561รวมระยะเวลา 13 เดือนเต็ม และเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาบริษัทฯได้เข้าสู่กระบวนการตรวจประเมินเพื่อการรับรองมาตรฐาน ISO22301:2012 ใน 3 พื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ ทุ่งมหาเมฆ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

ทั้งนี้ บวท. ได้ดำเนินการร่วมกับ บริษัท ยูไนเต็ด รีจิสตร้า ออฟ ซิสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้ผ่านการรับรองตามข้อกำหนดมาตรฐาน ISO22301:2012 ทั้ง 3 พื้นที่ ภายใต้ขอบข่ายการบริการจราจรทางอากาศ และบริการข้อมูลข่าวสารการเดินอากาศ และนับจากนี้ บวท. มีเป้าหมายขอการรับรองมาตรฐาน ISO22301:2012 ทั้ง 9 ศูนย์ควบคุมการบินภูมิภาค ทั่วทั้งประเทศต่อไป

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวต่อว่า ปริมาณจราจรทางอากาศของประเทศไทยสะสมถึงเดือนสิงหาคม ปี 2562 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 964,322 เที่ยวบิน ซึ่งคาดว่าทั้งปี 2562 การจราจรทางอากาศจะอยู่ที่ 1,039,647 เที่ยวบิน เติบโตจากปี 2561 ประมาณ 1.2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมว่าจะเติบโตเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุหลักๆ มาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ และการปิดน่านฟ้าปากีสถาน ขณะที่เศรษฐกิจจีนและอินเดีย และในภูมิภาคที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ยังส่งผลต่อปริมาณเที่ยวบินของประเทศไทยและปริมาณจราจรทางอากาศหนาแน่นมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีการปรับโครงสร้างเส้นทางบิน เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ และการบริหารจัดการห้วงอากาศของชาติให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการปฏิบัติการบินยิ่งขึ้นซึ่งบริษัทฯมีแผนปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบคู่ขนาน และมีการจัดการจราจรทางอากาศแบบทางเดียว (one-way route) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงและเปิดใช้งานไปแล้วในเส้นทางบินด้านใต้ตั้งแต่เดือน มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

สำหรับเส้นทางบินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่อยู่ในแผนการปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ เพื่อรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีสัดส่วนเที่ยวบินประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณเที่ยวบินทั้งประเทศ (3,000 เที่ยวบินต่อวัน) หรือมีปริมาณเที่ยวบินรวมอยู่ที่ 239,771 เที่ยวบินต่อปี เฉลี่ยวันละ 632 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งเฉลี่ยภาพรวมเติบโตอยู่ที่ 7.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางบิน เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอให้กองทัพอากาศ พิจารณาเห็นชอบโครงสร้างเส้นทางบินดังกล่าว

จากนั้นบริษัทฯ จะนำเสนอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พิจารณา รวมทั้งเชิญสายการบินผู้ใช้บริการ มาทำความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติการบิน พร้อมทั้งจัดทำวิธีปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ก่อนที่จะประกาศใช้เส้นทางบินใหม่อย่างเป็นทางการต่อไป

การปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ของบริษัทฯนอกจากจะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และแผนพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งแผนของภูมิภาคอาเซียนตามแนวคิด ท้องฟ้าไร้รอยต่อ (Seamless ASEAN Sky) ที่ต้องการให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ยกระดับการให้บริการการเดินอากาศให้อยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อให้การส่งต่อการบริการจากน่านฟ้าหนึ่งไปยังอีกน่านฟ้าหนึ่ง เป็นไปด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแบบไร้รอยต่อ

นายสมนึก กล่าวตอนท้ายว่า รายได้ในปีนี้คาดว่าจะมากกว่า 10,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตทางบริษัทฯมีแผนลงทุน 1,200 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบิน อู่ตะเภา วงเงิน 1,000 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2566-2567 และการลงทุนสร้างหอบังคับการบินใหม่ที่สนามบินเบตง จังหวัดยะลา มูลค่า 200 ล้านบาท เปิดใช้ปี 2563