ร.พ.เทพรัตน์ฯฟุ้งรับใบรับรอง SSCC ขึ้นแท่นศูนย์การแพทย์ชั้นนำ ชูผลงานเด่นรางวัลThailand angles award stroke ready hospital

โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา  ประกาศความสำเร็จรับโล่และใบรับรองStandard Stroke Certification Center : SSCC และรางวัลThailand angles award stroke ready hospital ปลื้มหนักติดอันดับ 3 โรงพยาบาลที่ได้รับความพึงพอใจจากผู้ป่วยนอกและใน จากกระทรวงสาธารณสุข พร้อมมั่นใจการบริการสู่ฮับการแพทย์ในระดับสากล

             นพ.จิรศักดิ์ วิจักขณาลัญฉ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา  เปิดเผยว่า โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯได้รับโล่และใบรับรองสำหรับโรงพยาบาลที่ผ่านการประเมินคุณภาพประกาศนียบัตรศูนย์โรคหลอดเลือดสมองมาตรฐาน (Standard Stroke Center : SSCC) และ โรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพด้านการจัดตั้งหอผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง (Stork Unit) ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เริ่มจาก เงินบริจาค 1.3 ล้านบาทของอาม่าหยู่ลั้ง มงคลพรและครอบครัว ทำให้โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ สามารถเปิด “ หน่วยดูแลโรคหลอดเลือดสมอง ” และผ่านการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐาน Stroke unit

            “ภายในปีแรก วันนี้ ครบ 3 ปี ที่โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมาได้ให้การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแล้ว กว่า 1,500 ราย ซึ่งต้องชื่นชมและขอแสดงความยินดีกับทีมแพทย์ พยาบาล กลุ่มงานอายุรกรรม ที่ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาระบบงาน จนได้รับการรับรองเป็น “ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองมาตรฐาน กระทรวงสาธารณสุข ” Standard Stroke Certification Center : SSCC ระดับ 4 ดาว. และรางวัล Thailand angles award stroke ready hospital ทั้งนี้เกิดจากความร่วมมือจากทุกจุดบริการ ER. CT. LAB. ห้องยา. กายภาพบำบัด. แพทย์แผนไทย แผนจีน กลับบ้าน ยังมีทีมส่งต่อ ดูแลที่บ้าน ครบวงจร

            ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ อ.นพ. ชัยวิวัฒน์ ตุงคะเสรีรักษ์ จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แพทย์ที่ปรึกษา ทำให้เรามีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยไม่มีของดี ราคาถูก การดูแลผู้ป่วยให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน SSCC ต้นทุนสูงกว่าปกติมากกว่า 8,000 บาทต่อราย ซึ่งก็ทำให้ได้ผลการรักษา ดีกว่าแทบทุกด้าน แต่การเบิกจ่ายกลับคืนได้เท่าเดิม ”นพ.จิรศักดิ์ กล่าว

            นอกจากนี้ทางโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมายังติดอันดับ 3 จากผลการประเมินและจัดระดับความพึงพอใจของประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในต่อโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก และความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ทุกคนในองค์กรคือ “เราจะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปชั้นนำ ที่เป็นต้นแบบของการจัดบริการเครือข่ายสุขภาพเขตเมืองและพร้อมพัฒนาเป็นโรงพยาบาลระดับจังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้ค่านิยมที่ว่า องค์กรแห่งการเรียนรู้ มุ่งผลสัมฤทธิ์ มีจิตบริการ ทำงานเป็นทีม เป็นแบบอย่างที่ดีทางสุขภาพ สร้างคุณค่าด้วยนวัตกรรม พร้อมพันธกิจเดียวกัน 5 ข้อที่ยึดมั่นทำกันมากว่า 7 ปีในการดำเนินงาน คือ 1. เป็นโรงพยาบาลทั่วไปของเขตอำเภอเมือง และรับส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่ายเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2. เป็นหน่วยบริการประจำ ที่สนับสนุนเครือข่ายปฐมภูมิ อำเภอเมือง และชุมชนใกล้เคียง 3. เป็นศูนย์สนับสนุนการควบคุมโรคทั่วไป , อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครราชสีมา 4. เป็นศูนย์ส่งเสริมการแพทย์แผนไทย ทางเลือกและกายภาพบำบัด จังหวัดนครราชสีมา 5. เป็นศูนย์การผลิตและพัฒนาฝึกอบรมทุกวิชาชีพ

ต้นกำเนิดโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา

                โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555 ซึ่งเดิมนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น มีนโยบายพัฒนาศักยภาพเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่าโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ซึ่งได้เปิดอย่างเป็นทางการ โดยนายแพทย์ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ด้วยความร่วมมือจากบุคลากรของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพแต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพที่ไม่อาจขยายรองรับโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและมีผลกระทบต่อพันธกิจและงานเดิมของศูนย์อนามัยที่ 5 จึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนสถานที่ดำเนินการของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2

            การดำเนินการช่วงเวลาต่อมากรมสุขภาพจิต มอบพื้นที่ให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ด้วยความเหมาะสมตามสภาพภูมิศาสตร์ และการกระจายประชากรของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ได้พิจารณาขอใช้พื้นที่ศูนย์จิตสังคมบำบัด โรงพยาบาลจิตเวชนคราชสีมาราชนครินทร์ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางถึง 56 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพห่างจากศูนย์อนามัยที่ 5 ไม่ไกลนัก เป็นพื้นที่ซึ่งได้พัฒนาสำหรับให้บริการด้านจิตเวชแล้วบางส่วน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่าโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิควรอยู่ในพื้นที่นี้

            การก่อสร้างโรงพยาบาลในขณะนั้น เพื่อพัฒนาเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด 200 เตียง และอาจขยายจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปโดยใช้หลักของ GIS ระบบเครือข่ายการส่งต่อผู้ป่วยของจังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับอนุมัติงบประมาณก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ 5 ชั้น วงเงิน 141 ล้านบาท และในปีต่อมาโรงพยาบาลได้ของบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน 10 ชั้น รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 400 ล้านบาท