ยักษ์ใหญ่ซันสวีทจัดทัพเพิ่มกำลังผลิต“ข้าวโพดหวาน”ตีตลาด โชว์ “มันหวานเผา”เจาะตลาดออนไลน์ มั่นยอดขายโต 10%

ซันสวีท เดินแผนปี 2562 เร่งเครื่องสร้างสินค้า High Value เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักร ติดตั้งเครื่องจักรใหม่ขยายสายผลิตสูงขึ้น 15 %  ชง Q 1 ส่งมันหวานเผาตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล ผ่าน LAZADA  และ SHOPEE ส่วน Q2 เน้นกลุ่มรีเทล เจาะแฟรนไชส์มั่นยอดรายได้พุ่ง 10% ชัวร์

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่ ภายใต้แบรนด์ “KC” เปิดเผยว่าในปี 2562  บริษัทให้ความสำคัญกับการทำสินค้าที่มี ‘มูลค่าสูงขึ้น’ (High Value) และเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรสำหรับสายการผลิตข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (Canned) และประเภทบรรจุถุงสุญญากาศ (Pouch) รวมถึงติดตั้งเครื่องจักรเพื่อขยายสายการผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen)  พร้อมดำเนินการผลิตเต็มศักยภาพ ส่งผลให้ผลิตข้าวโพดหวานทั้งปีเพิ่มขึ้น 10-15 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งเพิ่มจากยอดกำลังการผลิตของปี 2561 ที่ 128,000 ตัน โดยแบ่งเป็นสัดส่วนการผลิตข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ข้าวโพดหวานประเภทบรรจุถุงสุญญากาศ 15 เปอร์เซ็นต์และเพิ่มผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแช่แข็งเป็น 25 เปอร์เซ็นต์จากการผลิตทั้งหมด

 “ในปีนี้กำลังการผลิตข้าวโพดหวานแช่แข็งจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากเดิมมีกำลังการผลิตอยู่ที่ราว 5,000 ตันต่อปี โดยเฉพาะตลาดในโซนเอเชียที่ยอดขายเติบโตมากในปีที่ผ่านมา ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ที่มีปริมาณความต้องการข้าวโพดหวานแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ในปีนี้จะยังคงรุกตลาดกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ดร.องอาจ กล่าวถึงกลยุทธ์การดำเนินงานที่สำคัญในไตรมาส1/2562 ที่ผ่านมาว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์สินค้าอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด SUN ได้เพิ่ม สินค้าใหม่ ‘มันหวานเผา’ สายพันธุ์ญี่ปุ่น แบรนด์ KC  ในกลุ่ม READY TO EAT วางจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้ ที่ร้านสะดวกซื้อ  ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำสินค้าภายใต้แบรนด์ ‘KC’  ที่ผู้บริโภคให้การยอมรับและชื่นชมในมาตรฐานการผลิตสินค้าคุณภาพ ซึ้่งในปีนี้ SUN ตั้งเป้าในการออกสินค้าใหม่ให้รวดเร็วและมีความหลากหลายมากขึ้น

“เพื่อเป็นการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล บริษัทฯ ได้เพิ่มช่องทางขายแบบออนไลน์ ผ่าน LAZADA  และ SHOPEE  ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ชื่นชอบการช้อปปิ้งออนไลน์ และต้องการความสะดวกรวดเร็วในการซื้อสินค้าพร้อมทาน”

ดร.องอาจ กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในไตรมาส 2/2562 ต่อว่า บริษัทจะพยายามทำให้คำสั่งซื้อ(ออเดอร์) มีเข้ามาใกล้เคียงกับกำลังการผลิตที่บริษัทมีอยู่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 300-500 ตันต่อวัน หรือไม่น้อยกว่า 1 แสนตันต่อปี ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตอยู่ราว 120,000 ตัน ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีออเดอร์รอส่งมอบให้กับลูกค้าราว 750-1,000  ล้านบาท หรือมีออเดอร์ 3-4 หมื่นตัน สำหรับลูกค้าที่ออเดอร์เข้ามา 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นลูกค้าเอเชีย ส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าในประเทศตะวันออกกลางและยุโรป นอกจากการเพิ่มออเดอร์แล้ว บริษัทจะติดตามดูอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่า เพื่อจะปรับกลยุทธ์ในการขายสินค้าให้ครอบคลุมกับต้นทุนการส่งออก ทั้งนี้บริษัทจะปรับราคาขายเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เปอร์เซ็นต์ ให้กับลูกค้าใหม่

ขณะเดียวกันบริษัทได้เพิ่มกลยุทธ์การขายสินค้าไปในกลุ่มรีเทลมากขึ้น ซึ่งเป็นลูกค้าผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทขายสินค้าเป็นค้าส่ง ซึ่งจำหน่ายสินค้าในปริมาณมาก 10-20 กิโลกรัม และบริษัทต้องการจำหน่ายให้ลดลงมาที่ 1 กิโลกรัม หรือ 500 กรัม โดยการจำหน่ายสินค้าให้กับรีเทล จะมีมาร์จิ้นสูงกว่าการจำหน่ายสินค้าแบบค้าส่ง แต่การจำหน่ายสินค้ารูปแบบค้าส่งก็ยังดำเนินการอยู่

“บริษัทให้ความสำคัญในการจำหน่ายสินค้าช่องทางออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น สำหรับกลุ่มลูกค้าออนไลน์บริษัทคาดจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใช้ข้าวโพดหวานในการประกอบอาหาร หรือใช้ทำเป็นส่วนผสมในอาหาร

ทั้งนี้บริษัทคาดยอดขายสินค้ากลุ่มรีเทล หรือผู้ประกอบการโดยตรงปีนี้จะมียอดขายไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรวมทั้งหมด อีกทั้งหากบริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าได้ตามแผน คาดจะช่วยสนับสนุนมาร์จิ้นของบริษัทให้เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก จากที่ผ่านมาอยู่ในตัวเลขหลักเดียว” ดร.องอาจกล่าว

นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะขายสินค้าในรูปแบบแฟรนไชส์ ปัจจุบันอยู่ระหว่าง Set up ทีมงานขาย คาดจะเริ่มเห็นการจำหน่ายสินค้าในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ภายในปีนี้ แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดยอดขายได้ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไรส่วนภาพรวมยอดขายในปีนี้บริษัทมั่นใจจะเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จากปีก่อน 1.8 พันล้านบาท

ดร.องอาจ กล่าวตอนท้ายว่า ส่วนแนวโน้มยอดขายไตรมาส 2/2562 น่าจะดีต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยบริษัทมองยอดขายน่าจะเติบโตในระดับ 10 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งภาพการส่งออกยังเติบโตได้ตามแผน แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังติดตามเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเป็นอุปสรรค และปัจจัยกดดันผลการดำเนินของบริษัท

ทั้งนี้คาดสัดส่วนยอดขายจากการส่งออกปี 2562 น่าจะอยู่ที่ระดับ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะเป็นยอดขายในประเทศ โดยบริษัทมองความต้องการในการบริโภคข้าวโพดหวานต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเอเชียยังมีความต้องการอีกมาก