มูซาชิ ออโต พาร์ท ชูมาตรฐานคุณภาพลุยผลิตรองรับอุตฯยานยนต์โตปี 66

มูซาชิ ออโต พาร์ท รุกแผนพัฒนาคุณภาพการผลิตด้วยมาตรฐาน ISO 9001/TS 16949 /OHSAS 18001 และ ISO 14001 รองรับลูกค้าในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ด้านภาพรวมตลาดในประเทศแลส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ปี 2566-2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.3 เปอร์เซ็นต์ และ 2.6 เปอร์เซ็นต์

บริษัท มูซาชิ ออโต พาร์ท จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ อะไหล่ เครื่องจักร มีโรงงาน 2แห่งตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานีและปราจีนบุรี ปัจจุบันผลิตจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ส่งลูกค้าต่างประเทศ ในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ได้แก่ ฮอนด้าและซูซูกิ เป็นต้น

บริษัทฯมีนโยบายหลักที่กำหนดไว้โดยคิดค้นการผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ สร้างเสริมความไว้วางใจจากคนทั่วโลก ด้วยเครื่องจักรอันทันสมัย  ขณะเดียวกันด้วยจิตวิญญาณของบริษัทฯซึ่งยึดลูกค้าเป็นหลัก ซื่อสัตย์ สุจริต ค้นหาสิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้กำหนดขึ้นเพื่อให้โรงงานในเครือที่อยู่ในความดูแลของบริษัทฯยึดปฎิบัติเป็นแนวทางเดียวกันอย่างเคร่งครัด

            ด้านการผลิตสินค้าบริษัทฯให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ได้ตรงตามมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าด้วยการนำระบบการจัดการด้านคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ISO 9001 และ TS 16949 มาใช้ในการผลิตอย่างต่อเนื่อง

            นอกจากนี้บริษัทฯยังได้รับการรับรองด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย OHSAS 18001และ ISO 14001 (Environmental management System) เป็นมาตรฐานสากลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม เนื่องจากการดำเนินการของระบบช่วยให้องค์กรสามารถวางนโยบายและวัตถุประสงค์ ข้อกำหนด กฎระเบียบต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงองค์กรสามารถควบคุมและแก้ไขปัญหา ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนกระบวนการทำงานอื่นๆ

  สำหรับมูซาชิกรุ๊ป มีการพัฒนาจนกลายเป็นบริษัทฯระดับโลกแล้วแต่ก็ยังไม่หยุดการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเพื่อความอยู่รอดในตลาดโลก และทำให้เห็นว่าเป็นเอกลักษณ์ของมูซาชิกรุ๊ป ภายใต้คำขวัญที่ว่า “มูซาชิแบรนด์ระดับโลก”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่บริษัทฯตระหนักอยู่เสมอคือทุกชิ้นส่วนที่ผลิตออกไปจะต้องสามารถตอบสนองการใช้งานได้มากที่สุด ซึ่งไม่มีสิ่งใดนอกจากการส่งและแปลงพลังงานประเภทต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่นการเลือกใช้ทรัพยากรและพลังงานเพื่อสร้างคุณค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม การสร้างความแตกต่างระหว่างตัวเรากับคนอื่นๆอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงผนวกรวมความแตกต่างเหล่านั้นเข้ากับการเติบโตของบริษัทฯและมุ่งมั่นที่ให้พนักงานเติบโตไปพร้อมๆกับบริษัทเช่นกัน

           ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของกลุ่มมูซาชิ ดำเนินธุรกิจโดยการผลิตชิ้นส่วนคาร์บูเรเตอร์สำหรับเครื่องบินในปี 2526 และเปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนเครื่องหว่านหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองในปี 2499 เริ่มผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์และย้ายไปอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์บริษัทฯได้สร้างระบบ Monozukuri แบบเดิมขึ้นด้วยระบบการผลิตแบบครบวงจรเทคโนโลยีการผลิตด้วยความแม่นยำและระบบการผลิต การขายทั่วโลกรวมทั้งความสามารถในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯได้รับการตอบรับจากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มาอย่างต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ปี 66    

ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดย Krungthai COMPASS คาดว่า ภาพรวมตลาดในประเทศและตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ ในปี 2566-2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1.3 เปอร์เซ็นต์YoY และ 2.6 เปอร์เซ็นต์YoY ตามลำดับ จาก 3 ปัจจัยหนุนสำคัญได้แก่ 1) ชิ้นส่วน OEM มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามทิศทางของยอดการผลิตยานยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.6 เปอร์เซ็นต์ 2) การเพิ่มขึ้นของยอดจดทะเบียนรถสะสมที่มีอายุมากกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของตลาดชิ้นส่วนฯ REM และ 3) การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยยังมี Room to Grow อีกมาก

เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป็นอีกตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าเร็วขึ้น และอาจกระทบอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยซึ่งเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ทั้งนี้ ชิ้นส่วนฯ บางประเภท โดยเฉพาะชิ้นส่วนฯ ที่เกี่ยวกับระบบส่งกำลัง ระบบระบายความร้อน ระบบเครื่องยนต์ ระบบควบคุมไอเสีย ระบบเชื้อเพลิง และระบบเบรก จะได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ที่เป็น Supply Chain ของรถยนต์ไฟฟ้าที่มีความต้องการมากขึ้น อาทิ ระบบแบตเตอรี่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมการส่งกำลัง และระบบมอเตอร์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2566-2567 สัดส่วนรถยนต์ BEV จะยังไม่สูงมาก ทำให้ตลาดชิ้นส่วนรถยนต์ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในระยะยาว ผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ได้อาจมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ