มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินเครื่องครั้งใหญ่ สร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร บนพื้นที่กว่า 566 ไร่ พร้อมก้าวสู่เมดิคัลฮับรองรับผู้ป่วยนอก 4-5 แสนรายต่อปี ผู้ป่วยใน 2 หมื่นคนต่อปี รองรับการขยายตัวของอีอีซี ส่วนโซนรังสิตทุ่มงบกว่า 2,269 ล้านบาทสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติศูนย์รังสิตคาดเสร็จปี 2566

นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า แนวทางในการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หลังจากรัฐบาลประกาศให้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี 566 ไร่ เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษสำหรับกิจการการแพทย์ครบวงจร (EECmd) โดยมีแผนสร้างโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อรองรับขยายตัวทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวในอีอีซี

 สำหรับพื้นที่การก่อสร้างทั้งหมดจำนวน 566 ไร่ จะแบ่งเป็น พื้นที่สำหรับด้านการแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร (เมดิคัล ฮับ) 266 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ 111 ไร่ สถาบันวิจัยการแพทย์ขั้นสูง 60 ไร่ และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา 95 ไร่ นอกจากนี้ยังมีศูนย์นวัตกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 56 ไร่ พื้นที่บริการ 104 ไร่ พื้นที่สีเขียว 140 ไร่

ในส่วนของพื้นที่เมดิคัลฮับ ใช้เงินลงทุน 8 พันล้านบาท แบ่งเป็น 1.ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์พัทยาขนาด 300 เตียง จะใช้เงินลงทุน 2.6 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 2564 แล้วเสร็จในปี 2567 ในเฟส 2 จะขยายอีก 300 เตียง

นางเกศินี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอีอีซี มีโรงพยาบาลของรัฐบาลอยู่น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากโครงการ อีอีซี เดินหน้าเต็มที่จะมีแรงงานอีกกว่า 1 ล้านราย เข้ามาในพื้นที่นี้ ดังนั้นจึงต้องมีโรงพยาบาลรัฐบาลเพิ่ม โดยโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยาจะรับผู้ป่วยนอกที่เข้ามารับการรักษาได้ 4-5 แสนคนต่อปีและรับผู้ป่วยในได้มากกว่า 2 หมื่นคนต่อปี ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยที่ใช้บัตรทอง และประกันสังคม รวมทั้งยังมีส่วนโรงพยาบาลที่ให้บริการแบบโรงพยาบาลเอกชน จะทำให้ประชาชนในอีอีซี เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดสร้างศูนย์กลางพัฒนาสุขภาพพลานามัยผู้สูงอายุ พื้นที่ 5 ไร่ อาคารที่พักอาศัย 3 ชั้น 3 หลัง ห้องพักขนาด 50-60 ตารางเมตร จำนวน 150 หน่วย ใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารอาคารส่งเคราะห์ รวมทั้งจะมีคลินิกเฉพาะทางสำหรับผู้สูงอายุ คลินิกสูงวัย การตรวจรักษาโรคทั่วไป คลินิกทันตกรรมสูงวัย คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุของประชาชนในอีอีซี

นางเกศินี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในพื้นที่นี้ยังมีศูนย์นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต มีเนื้อที่ 26 ไร่ จะดำเนินการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ โดยอาศัยเครือข่ายความร่วมมือจากสถาบันวิจัยนานาชาติ สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงหน่วยงานวิจัยของภาคเอกชน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านยานยนต์แห่งอนาคต ด้านโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมดิจิทัล สร้างเครือข่ายความร่วมมือนักวิจัยระดับโลก เพื่อดึงดูดบุคลากรและหน่วยงานเข้าสู่พื้นที่ เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ร่วมกัน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่จะช่วยให้การพัฒนากำลังคนของประเทศก้าวรุดหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ยังเป็นศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากรด้านต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐ โดยมีรูปแบบบริการครบวงจร ตั้งแต่ความร่วมมือระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา การจัดการเรียนการสอน เพื่อยกระดับความสามารถบุคลากรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้บริการศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางขนาดใหญ่ที่มีอุปกรณ์ในการสอนที่ทันสมัย

นอกจากนี้ยังได้ทำการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติศูนย์รังสิต ด้วยงบลงทุนกว่า 2,269 ล้านบาทเป็นอาคารสูง 10 ชั้นและที่จอดรถใต้ดิน 1 ชั้น งานตกแต่งภายใน ระบบประกอบอาคารและครุภัณฑ์ ซึ่งการก่อสร้างจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาแล้วคาดเสร็จวันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป