ฉลองครบรอบ 122 ปี รฟท.จัดรถจักรไอน้ำ 10 ตู้ เปิดประสบการณ์ใหม่ให้ประชาชนสัมผัส บนเส้นทางประวัติศาสตร์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดรถไฟรถจักรไอน้ำขบวนพิเศษ 10 ตู้ เปิดให้ประชาชนร่วมสัมผัสเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ-อยุธยา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟครบรอบ 122 ปี

            นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ ครบรอบ 122 ปี ว่า รฟท.ได้จัดงานเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงพระราชทานกิจการรถไฟให้แก่ปวงชนชาวไทย มีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 29 รูป และจัดกิจกรรมพิเศษเปิดให้ประชาชน 720 คนร่วมเดินทางในขบวนรถไฟรถจักรไอน้ำพิเศษ 10 ตู้โดยสารสัมผัสและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกในเส้นทางประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ – พระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งได้ร่วมชมนิทรรศการผ่านพยัญชนะ ก-ฮ ทั้ง 44 ตัว ที่สถานีหัวลำโพง

นอกจากนี้ยังได้จัดโครงการถ่ายภาพกับหัวรถจักรไอน้ำและปริ้นท์ภาพฟรี น. บริเวณจุดปล่อยรถไฟหัวรถจักรไอน้ำที่สถานีหัวลำโพงโดยมีการนำช่างภาพชั้นนำมาให้บริการถ่ายภาพนักท่องเที่ยวร่วมกับหัวรถจักรไอน้ำและทำการอัดขยายภาพขนาด 4 คูณ 6 นิ้วแจกฟรีให้กับนักท่องเที่ยวไว้เป็นที่ระลึกนำกลับบ้าน เพื่อเป็นการส่งเสริมการถ่ายภาพให้บุคคลทั่วไปได้เห็นความสวยงามของหัวรถจักรไอน้ำ

            “ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันด้านการก่อสร้างและเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงซึ่งจะเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าถึงเขตรอยต่อกรุงเทพฯ-ปริมณฑลทั้งรังสิต ภาชี หัวหมาก ฉะเชิงเทรา และวงเวียนใหญ่ มหาชัย ก่อนที่รัฐบาลต่อไปจะเข้ามาสานต่อขยายแนวเส้นทางไปยังภาคต่างๆในอนาคตต่อไป โดยมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางซึ่งมีแผนเปิดให้บริการในปี 2564

สำหรับรถไฟสายสีแดงจะประเดิมให้บริการพร้อมกับรถไฟดีเซลเส้นทางต่างๆส่วนรถไฟเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟความเร็วสูงเส้นทางต่างๆจะทยอยให้บริการต่อเนื่องกันไป ส่วนในอนาคตนั้นจะปรับรถไฟดีเซลรางไปเป็นระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดโดยจะทยอยดำเนินการ

นายวรวุฒิ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการรถไฟได้ดำเนินการแผนยุทธศาสตร์การรถไฟแห่งประเทศไทยปี 2560 – 2564 เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางรางของประเทศ การพัฒนาองค์กรและการจัดการให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ ตลอดจนการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร

นอกจากนี้ รฟท.ยังได้จัดทำแผนขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว เพื่อให้เห็นการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ตามวิสัยทัศน์ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 โดยได้ดำเนินภารกิจสำคัญ ๆ ได้แก่ การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางระบบรางของไทย การพัฒนาที่ดินแปลงสำคัญ ๆ ให้กลายเป็นศูนย์กลางย่านธุรกิจแห่งใหม่ของไทยและภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ทั้งระบบ การก่อสร้างรถไฟสายใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงหัวเมืองสำคัญของประเทศสู่อาเซียน การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าชานเมืองเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองกับพื้นที่ชานเมือง และหัวเมืองโดยรอบ ตลอดจนการจัดหาหัวรถจักร รถโดยสารรุ่นใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ

นอกจากนี้ รฟท.ได้จัดทำโครงการTPM (Total Productivt Maintenance) ขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์ปรับ เปลี่ยน พัฒนา สู่มาตรฐานสากล โดยโครงการดังกล่าวเริ่มต้นมาจากการดำเนินการ PM หรือการทำ Preventive Miantenance ต่อมาได้มีการพัฒนาต่อยอดความคิดพื้นฐานในการบำรุงรักษาเครื่องจักร เพื่อไม่ให้ชำรุด สามารถเดินเครื่องตามที่ต้องการใช้วิธีการรักษาตามคาบเวลา การบำรุงรักษาตามสภาพการใช้งานของเครื่องจักร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรที่บำรุงรักษาให้ง่าย และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

ในปัจจุบันฝ่ายการช่างกล ได้มีการเปิด TPM Open House โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้พนักงานในฝ่ายการช่างกล พนักงานแต่ละฝ่ายของการรถไฟฯ รวมทั้งบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโรงงาน/โรงซ่อม ที่เป็นพื้นที่จริง เพื่อให้เห็นการพัฒนา เปลี่ยนแปลง หลังจากที่ได้นำ TPM มาประยุกต์ใช้งาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร

นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นว่าสถานที่ทำงานมีความปลอดภัย มีระเบียบวินัย สำหรับในปีที่ผ่านมา ได้มีการเปิด TPM ไปแล้ว จำนวน 3 พื้นที่ ประกอบด้วย 1.โรงงานอุตรดิตถ์ 2.โรงรถจักรอุตรดิตถ์ 3.โรงซ่อมรถจักรหาดใหญ่ ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตจะสามารถเพิ่มจำนวนโรงงานในการทำ TPM ได้ต่อเนื่องจนครบทุกโรงงานภายในการรถไฟฯ อย่างแน่นอน