กระทรวงพาณิชย์เผยยอดส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ รับอานิสงค์จากภาคเกษตรขยายตัว

กระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการส่งออกสินค้าไทยสรุปยอดจากเดือนกันยายนที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 21,812.3 ล้านเหรียญสหรัฐหรือขยายตัว 12.22 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 18,454.1 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 9.73 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ประเทศไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 3,358.2 ล้านเหรียญ ส่วนการส่งออกรวม 9 เดือนมีมูลค่า 175,435.2 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 9.3 เปอร์เซ็นต์ เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี และการนำเข้ามีมูลค่า 163,203.7 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 14.75เปอร์เซ็นต์ โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 12,231.4 ล้านเหรียญ

การส่งออกในเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์นั้น เป็นผลมาจากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 7.9 เปอร์เซ็นต์ เช่น ยางพารา, น้ำตาลทราย, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป รวมถึงข้าวและอาหาร ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 12.5 เปอร์เซ็นต์ จากทองคำ, ผลิตภัณฑ์ยาง, น้ำมันสำเร็จรูป, คอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ, รถยนต์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ และอุปกรณ์สื่อสาร

อย่างไรก็ตามพบว่ามีสินค้าหลายรายการที่ขยายตัวอย่างโดดเด่น ยกตัวอย่าง ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เพิ่มขึ้นถึง 243.3 เปอร์เซ็นต์ โดยส่งไปยังสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย และหากดูเฉพาะกลุ่มอัญมณี ที่ไม่รวมทองก็ขยายตัว 9.3 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเดือนกันยายนขยายตัว 74.4 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม หากแยกกลุ่มทองคำออกมาต่างหาก การส่งออกโดยรวมของไทยก็ยังคงขยายตัวที่ 7.9 เปอร์เซ็นต์

สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 52.4 เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออกไปยังตลาดจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ส่งผลให้ยอดส่งออกรวม 9 เดือนแรกของสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 53.8 เปอร์เซ็นต์, สินค้าน้ำมันสำเร็จรูปขยายตัว 53.1 เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออกไปเวียดนาม สิงคโปร์ และกัมพูชาซึ่งเรียกว่ามีมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ภาพรวม 9 เดือนแรกของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า แม้ภาพรวมยังติดลบ -0.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่า สินค้าโทรศัพท์และอุปกรณ์ส่งออกเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะที่ส่งไปยังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 337 เปอร์เซ็นต์ ขยายตัวต่อเนื่องมา 12 เดือน ตลาดยุโรปเพิ่มขึ้น 135 เปอร์เซ็นต์

สินค้ากลุ่มยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีน้ำหนักคิดเป็นสัดส่วนถึง 14.3 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออก สามารถพลิกกลับมาเป็นบวก 4.9 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนก่อนที่ติดลบ -2.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากยอดส่งออกกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 2.8 เปอร์เซ็นต์ จากเดือนก่อนที่ติดลบ ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ขยายตัว 1.6 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 9 เดือนแรก กลุ่มสินค้าเกษตร ข้าวสามารถส่งไปยังตลาดรัสเซียเพิ่มขึ้น 143 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ยอดส่งออกข้าวโดยรวม 9 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 8.2 ล้านตันหรือเพิ่มขึ้น 19.9 เปอร์เซ็นต์ และมีมูลค่า 3,578 ล้านเหรียญหรือเพิ่มขึ้น 865.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยางพาราด้านปริมาณเพิ่ม 6.9 เปอร์เซ็นต์ ราคาเพิ่ม 22.4 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าบางรายการที่ส่งออกลดลงในเดือนนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ยังคงติดลบ -1.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะภาคเอกชนเยือนตุรกี เพื่อเปิดตลาดมันสำปะหลังอัดเม็ดไปแล้ว, สินค้ากลุ่มผักและผลไม้ที่ยอดลดลง 9.7 เปอร์เซ็นต์ ตามฤดูการผลิต, สินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งลดลง 9.5 เปอร์เซ็นต์, เครื่องปรับอากาศลดลง 10.6 เปอร์เซ็นต์ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ลดลง 13.6 เปอร์เซ็นต์

ด้านตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าไทย ปรากฏเพิ่มขึ้นทุกตลาดเฉพาะตลาดหลักเพิ่ม 6.0 เปอร์เซ็นต์ โดยตลาดสหรัฐเพิ่ม 5.7 เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออกสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง, เหล็กและผลิตภัณฑ์สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์, เครื่องซักผ้า/ส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ และทรานซิสเตอร์ ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 10.3 เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออกไก่แปรรูปฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าสูงสุด, เครื่องคอมพิวเตอร์, แผงวงจร, เครื่องจักรกลไฟฟ้า, โทรศัพท์และอุปกรณ์ ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่ม 2.1 เปอร์เซ็นต์ เป็นผลจากการส่งออกโทรศัพท์และอุปกรณ์, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องจักรกลและแผงวงจร

ตลาดที่มีศักยภาพสูง ส่งออกเพิ่ม 10.9 เปอร์เซ็นต์ เช่น จีนเพิ่ม 12.1 เปอร์เซ็นต์ จากการส่งออก รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง, เคมีภัณฑ์, ยางพารา และคอมพิวเตอร์ ตลาดกลุ่ม CLMV เพิ่ม 13.9 เปอร์เซ็นต์ จากสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป, แผงวงจรไฟฟ้า, ทองแดง,เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ตลาดเอเชียใต้เพิ่ม 34.6 เปอร์เซ็นต์ จากเครื่องเทศ-สมุนไพรและรถยนต์ ตลาดไต้หวันเพิ่ม 23.8 เปอร์เซ็นต์ ตลาดฮ่องกงเพิ่ม 13.9 เปอร์เซ็นต์ และตลาดอาเซียนเพิ่ม 1.0 เปอร์เซ็นต์

ส่วนตลาดศักยภาพรองโดยรวมเพิ่มขึ้น 9.5 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ออสเตรเลียเพิ่ม 15.3 เปอร์เซ็นต์ ตะวันออกกลางเพิ่ม 6.4 เปอร์เซ็นต์ ตลาดแอฟริกาเพิ่ม 2.1 เปอร์เซ็นต์ ตลาดละตินอเมริกาเพิ่ม 1.4 เปอร์เซ็นต์ รัสเซีย-CIS เพิ่ม 101 เปอร์เซ็นต์ และแคนาดา 6.9 เปอร์เซ็นต์