กรมทางหลวงอัด 6.4 หมื่นล้าน พัฒนา 42 โครงการทั่วไทย จับมือ กยท. เพิ่มมูลค่ายางต่อยอดพัฒนาภารกิจของกรมฯ

กรมทางหลวงใช้ 6.4หมื่นล้าน ตัด-ขยายถนน 4-8 เลน 42โครงการ ขีดวงเปิดหน้าดินผุด 2 วงแหวนแปดริ้ว-พนัสนิคมรองรับจราจร-ขนส่งสินค้าได้ 20 ปี

นายกมล หมั่นทำ รองอธิบดีกรมทางหลวงเปิดเผยว่าขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษาโครงการก่อสร้างและขยายเส้นทางสายสำคัญในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีเพื่อเชื่อมระบบโลจิสติกส์และแก้ปัญหาจราจร ซึ่งเป็นงบต่อเนื่องจากปี 2557-2560 ในจังหวัดชลบุรีและระยองจำนวน 11 โครงการ วงเงิน 5,718 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอีอีซีโดยเพิ่มจังหวัดฉะเชิงเทราเข้ามา จึงนำแผนมาปรับใหม่รวมกับนโยบายรัฐบาลจัดทำแผนโครงการพัฒนาทางหลวงแบบบูรณาการขึ้นมา(ปี 2557-2563) วงเงิน 64,000 ล้านบาทจำนวน 42 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะปรับปรุงและขยายถนนที่มีอยู่เดิม จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4-8 ช่องจราจรและก่อสร้างสะพานข้ามแยกบริเวณจุดตัดให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อโดยไม่ต้องหยุดรอสัญญาณไฟ ซึ่งโครงข่ายดังกล่าวจะช่วยรองรับปริมาณจราจรในพื้นที่ระยะยาวได้ถึง 20 ปี

สำหรับงบประมาณปี 2561 ที่จะนำมาใช้เร่งด่วนจะเป็นการขยายเขตทางขนาด 2 ช่องจราจรเป็น4ช่องจราจร และ 4 ช่องจราจรเป็น 6-8 ช่องจราจร จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 19,251 ล้านบาทที่อยู่ระหว่างพิจารณาร่างงบประมาณ อาทิ ทางหลวงหมายเลข 36 แยกกระทิงลาย-ระยองจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจรระยะทาง 19 กิโลเมตร แยกเป็น 2 ตอนได้แก่ ตอนแยกต่างระดับเขาไม้แก้ว-แยกมาบข่า ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร วงเงิน 1,395 ล้านบาท

ส่วนงบประมาณปี 2562 มีแผนขยายเขตทางเพิ่มอีก 14 โครงการ วงเงิน 18,445 ล้านบาท และงบประมาณปี 2563 จำนวน 4 โครงการ 20,900 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างทุกโครงการต้องแล้วเสร็จทยอยใช้เส้นทางไม่เกินปี 2563-2565

นอกจากนี้ กรมทางหลวงจับมือกับการยางแห่งประเทศไทยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาวิจัยและพัฒนาและการส่งเสริมการใช้ยางพาราในภารกิจของกรมทางหลวงเน้นให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนางานวิจัยต่อยอดสู่การผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราหรือเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราในรูปแบบต่างๆเพื่อสนับสนุนภารกิจของกรมทางหลวง และสามารถตอบรับนโยบายส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางได้ โดยมี นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง และ ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เป็นผู้แทนจาก 2 หน่วยงาน ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง

นายธานินทร์  สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า กรมทางหลวงดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลด้านการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐโดยผลิตและแปรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าและสนับสนุนการใช้ยางภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทุกภาคส่วนต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่าความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างการยางแห่งประเทศไทยและกรมทางหลวง เพื่อให้นโยบายการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะร่วมผลักดันให้เกิดการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ เพื่อให้การใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราในประเทศต่อไป โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ต่อยอดไปจนถึงกระบวนการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา ตลอดจนนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินภารกิจของกรมทางหลวง ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเหลือด้วยการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่งด้วย