กรมทางหลวงชนบทคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา จัดสรรงบปี 64 จำนวน 48,789.8421 พัฒนาโครงข่ายคมนาคมในประเทศ

กรมทางหลวงชนบท (ทช.)เข้ารับรางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ อันดับที่ 1 GRAA การพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนแบบบูรณาการ จากสมาพันธ์ทางหลวงโลก International Road Federation ประเทศสหรัฐอเมริกา

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า สำนักงานตรวจสอบความปลอดภัยงานทาง ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ อันดับที่ 1 สาขาความปลอดภัย Global Road Achievement Awards (GRAA) เรื่องการพัฒนาระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนแบบบูรณาการ จากสมาพันธ์ทางหลวงโลก International Road Federation (IRF) ในการส่งผลการดำเนินงานด้านการยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยบนโครงข่ายคมนาคมของประเทศ

“นับเป็นรางวัลสำคัญที่ ทช. ได้รับจากการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เป็นที่แรกของประเทศไทย ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรของ ทช. ในการปฏิบัติหน้าที่บำรุงรักษาและปรับปรุงความปลอดภัยโครงข่ายทางหลวงชนบท ปัจจุบัน ทช. ได้พัฒนาและยกระดับมาตรฐานทางหลวงชนบทอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงข่ายถนนในความรับผิดชอบมากกว่า 47,000 กม. โดยประมาณร้อยละ 10 ของถนนทั้งประเทศ ทั้งนี้ ทช. ตระหนักถึงความสำคัญที่ต้องแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนให้เกิดความยั่งยืน”

            สำหรับโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับระบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนให้ดียิ่งขึ้น โดย ทช. ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในสาขาด้านความปลอดภัย เป็นการนำแนวทางทั้งเชิงรุกและเชิงรับในการปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนด้วยการนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาสำรวจหาพิกัดบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ผ่านระบบสารสนเทศ ซึ่งสามารถแสดงสภาพปัจจุบันของถนนให้ผู้ตรวจสอบสามารถวิเคราะห์เลือกชุดของมาตรการด้านความปลอดภัยที่เหมาะสมได้ และตรวจหาระดับความเสี่ยงผ่านวิธีการประเมินระดับความปลอดภัยของถนน โดยเป็นไปตามหลักการของ International Road Assessment Program

            ในปีงบประมาณ 2564 ทช.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 48,789.8421 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาคถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีการก่อสร้างจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต จำนวน 365 โครงการ ระยะทาง 834.620 กม. สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศ จำนวน 222 โครงการความยาวรวม 18,517 เมตร ตลอดจนงานซ่อมบำรุงโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศและอำนวยความปลอดภัยทางหลวงชนบท เป็นต้น

อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยถึงการดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย สป.2003 จังหวัดสมุทรปราการว่า โครงการดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายในพื้นที่ให้สมบูรณ์ เสริมประสิทธิภาพระบบการขนส่ง รองรับปริมาณการจราจรบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและการเติบโตด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ โดยดำเนินโครงการถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (กม.ที่ 26) เชื่อมกับถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 พร้อมทางต่างระดับ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการตัดถนนแนวใหม่ ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมไหล่ทางและเกาะกลาง มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.ที่ 8+900 แนวถนนมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ บริเวณ กม.ที่ 9+833 ก่อสร้างสะพานต่างระดับข้ามทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ชลบุรีสายใหม่) ความยาว 381 เมตร บริเวณ กม.ที่ 10+626 ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองกาหลง ความยาว 330 เมตร บริเวณ กม.ที่ 11+798 ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ความยาว 493 เมตร มีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.ที่ 13+764 แนวถนนบรรจบกับถนนทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 (ถนนหลวงแพ่ง หรือ ถนนเทพราช – ลาดกระบัง) รวมระยะทาง 4.864 กิโลเมตร

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการเสนอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้พื้นที่เวนคืนประมาณ 122 ไร่ อาคารสิ่งปลูกสร้าง 65 หลัง และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการเวนคืนที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ จำนวน 230 ล้านบาท