กรมชลฯตอบรับ “ประพิศ จันทร์มา”นั่งอธิบดีกรมคนที่ 34 อย่างอบอุ่น สารงานต่อ ก่องานใหม่ พัฒนาสู่องค์กรอัจฉริยะ

กรมชลประทานต้อนรับนายประพิศ จันทร์มา เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานคนที่ เข้ากราบสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ศาลพ่อปู่แม่ย่า ศาลต้นโพธิ์ และศาลแม่ย่าทิพย์มงคลชัยวารีศรีไพศาล ภายในบริเวณกรมชลประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมชลประทานให้การต้อนรับและเข้าร่วมในพิธี

อย่างไรก็ตามได้มีลงนามในพิธีส่ง-รับมอบงานอธิบดีกรมชลประทานคนที่ 34 เพื่อสานต่อภารกิจหน้าที่สำคัญขององค์กร โดยมีนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ร่วมเป็นสักขีพยาน และนายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรบุคคล นายเกียรติพงษ์ เพชรศรี เลขานุการกรม ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานในการส่ง-รับมอบงานในครั้งนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีแผนรับมือภัยแล้ง ควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผน ภายใต้ความทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม พร้อมประสานการประปานครหลวงบริหารสูบน้ำจืดในช่วงจังหวะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันน้ำเค็มเข้าระบบประปา และให้ทุกสำนักงานชลประทานสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนอย่างเข้มข้น ร่วมถึงลงพื้นที่พูดคุยกับเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ ให้ใช้น้ำอย่างประหยยักเพื่อฝ่าวิกฤตแล้งไปด้วยกัน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำจาก 5 เขื่อนหลักในพื้นที่อีสานกลาง เติมน้ำในแม่น้ำชีสนับสนุนน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาในพื้นที่แม่น้ำชีตอนกลาง-ตอนล่าง หลังระดับน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ในการสนับสนุนน้ำเพื่อช่วยทุกภาคส่วนให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ โดยให้คำนึงถึงน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนเป็นหลัก

อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Gistda พบว่าเกษตรกรที่อยู่บริเวณสองฝั่งลำปาว ลำน้ำชีตอนล่าง และลำน้ำยัง มีการทำนาปรังโดยใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า พื้นที่กว่า 260,000 ไร่ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำชีลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ เพื่อลดผลกระทบจากระดับน้ำที่ลดลง ที่มีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อการสูบน้ำดิบสำหรับผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขายโสธร และประปาโพนทอง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำชี ด้วยการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากแผนเดิมไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อรักษาระดับน้ำและปริมาณน้ำในแม่น้ำชีให้เพียงพอต่อความต้องการ

นอกจากนี้กรมชลประทานได้เดินหน้ากำจัดวัชพืชและผักตบชวาในพื้นที่ภาคกลางอย่างต่อเนื่อง คาดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนภายในเดือนมีนาคมนี้ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และการส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันในหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาวัชพืชและผักตบชวาที่ไหลมาตามกระแสน้ำอย่างต่อเนื่อง และสะสมเป็นจำนวนมากจนเกิดความหนาแน่นของวัชพืชในแม่น้ำสายหลักหลายสาย ที่ผ่านมากรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าดำเนินการกำจัดวัชพืชและผักตบชวามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่จังหวัดชัยนาท นำเครื่องจักรกลประเภท รถขุดไฮดรอลิค เข้ากำจัดวัชพืชประเภทหยั่งรากลึก เช่น ต้นไมยราบยักษ์ หญ้าขน หญ้าน้ำพุ ที่ขึ้นหนาแน่นบริเวณริมคลองชัยนาท-อยุธยา ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองชัยนาท ส่งผลทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวก ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ขณะนี้ได้ดำเนินการกำจัดวัชพืชไปแล้วกว่า 10,000 ตัน จากวัชพืชสะสมประมาณ 33,262 ตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในเดือนมีนาคมนี้” นายประพิศกล่าว