กรมชลประทาน ครบรอบ 120 ปี 6 รัชกาล งานของแผ่นดิน โชว์ศักยภาพอัจฉริยะบริหารน้ำอย่างยั่งยืน

กรมชลประทานสถาปนาครบรอบ 120 ปี จัดงาน 6 รัชกาล งานของแผ่นดิน โชว์ศักยภาพองค์กรอัจฉริยะด้านน้ำมุ่งสร้างประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำและการบริการคุณภาพส่งถึงประชาชน สานโครงการพระราชดำริมากกว่า 2,000  โครงการ

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานจาก 76 จังหวัด ทั่วประเทศ โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมด้วยนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมงาน และร่วมกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ จำนวน 22,930 ต้น

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 120 ปี แห่งการกำเนิดและวิวัฒนาการงานชลประทานในประเทศไทย นับแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ก่อตั้งกรมคลอง เปลี่ยนเป็นกรมทดน้ำในรัชกาลที่ 6 และเป็นกรมชลประทานในรัชกาลที่ 7 การพัฒนางานชลประทานในประเทศไทยได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 9 ที่งานด้านการชลประทานได้รับการพัฒนาอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาศึกษาและก่อสร้าง โครงการชลประทานประเภทและขนาดต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ และภูมิสังคม รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการอุปโภคบริโภค การเกษตร และกิจกรรมอื่น ๆ มีโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริในทุกพื้นที่มากกว่า 2,000  โครงการ

“ที่ผ่านมากรมชลประทานได้พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกภาคส่วนกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 21,463 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำรวมประมาณ 83,101 ล้านลูกบาศก์เมตร พัฒนาพื้นที่ชลประทานไปแล้วกว่า 35.04 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้กว่า 51.08 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 94,961 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในปี 2580 โดยมุ่งหวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น”

สำหรับแผนโครงการพัฒนาและฟื้นฟูคลองพระพิมลเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คลองพระราชาพิมล หรือ คลองพระพิมล เป็นคลองขุดที่มีบทบาทสำคัญทั้งด้านการคมนาคมและการเกษตรของผู้คนในจังหวัดนนทบุรี และนครปฐม เป็นคลองสายหลักในการส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทาน ซึ่งผลจากการขุดคลองพระพิมล ทำให้มีการขุดคลองเล็ก คลองซอย เช่น คลองขุนศรี คลองลากค้อน คลองบางภาษี และคลองมะสง ทำให้มีผู้คนย้ายถิ่นฐานจากที่ต่างๆ มาตั้งรกรากลงทุนทำมาหากินในท้องที่บางบัวทองกันมากขึ้น เกิดการสร้างชุมชนริมคลองที่มีความผาสุกอยู่ดีกินดี โดยได้เริ่มเข้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่ริมคลองตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2564 และได้นำร่องโครงการไปแล้วในช่วงแรกตามแนวคลอง เป็นระยะทาง 5.1 กิโลเมตร ตั้งแต่วัดไทรใหญ่ ถึง วัดไทรน้อย และได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นที่สนใจของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และพร้อมให้ความร่วมมือในการพัฒนาฟื้นฟูและอนุรักษ์คลองพระพิมลให้ยั่งยืน โดยมีระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 ถึงปีงบประมาณ 2567

ปัจจุบันคลองพระพิมล มีความยาว 31 กิโลเมตร กว้าง 40 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2,296,872 ลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทานมากกว่า 208,862 ไร่ ในเขตอำเภอบางบัวทอง อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม โดยมีหน่วยงานในสังกัดสำนักงานชลประทานที่ 11 เป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำ ด้วยการใช้ระบบชลประทาน ประกอบไปด้วย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ รับผิดชอบ ริมตลิ่งฝั่งเหนือ โครงการชลประทานนนทบุรี รับผิดชอบ ตัวลำคลองพระพิมล ตั้งแต่ กม.0+000 ถึง ถนนกาญจนาภิเษก (ถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี) ฝั่งใต้ และ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล รับผิดชอบ จากถนนกาญจนาภิเษก(ถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี) ไปจนถึงแม่น้ำท่าจีน มีอาคารบังคับน้ำ 2 แห่งประกอบด้วย ประตูระบายน้ำคลองพระพิมล จังหวัดนนทบุรี และประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำพระพิมล จังหวัดนครปฐม

จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้คลองพระพิมลมีสภาพเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ประสบปัญหาน้ำท่วม และน้ำเน่าเสียเป็นประจำ กองบัญชาการกองทัพไทย หน่วยงานราชการ และภาคีเครือข่าย จึงได้ร่วมกันจัดทำ โครงการรักษ์คลองพระพิมลเฉลิมพระเกียรติ เพื่อให้คลองพระพิมล กลับมามีสภาพดีดังเดิม ปลูกจิตสำนึกของประชาชนสองฝั่งคลอง ให้ร่วมกันดูแลรักษาไม่ซ้ำเติมคลองให้มีสภาพปัญหาดังเดิม พร้อมส่งเสริม และพัฒนาวิถีชีวิตสองฝั่งคลองให้มีความอยู่ดีกินดี สร้างอาชีพ ขยายโอกาส สร้างรายได้ให้กับประชาชนสองฝั่งคลองเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป