กฟน.ครบรอบ 62 ปี นำประเทศก้าวสู่มหานครอัจฉริยะ ทุ่ม 1.14 พันล้านวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid คาดแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายปี 2565

การไฟฟ้านครหลวงเร่งวางระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid เข้าพบผู้รับจ้าง มอบนโยบายการดำเนินงานยกระดับการก่อสร้างโครงการสายไฟฟ้าใต้ดิน เมืองมหานคร

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยถึงโครงการนำร่อง ที่สำคัญในการยกระดับงานบริการด้านระบบไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ตอบสนองวิถีชีวิตและการใช้เทคโนโลยีในเมืองหลวง

MEA ได้วางระบบ Smart Metro Grid โครงข่ายสำหรับการส่งข้อมูลการใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้งบประมาณจำนวนกว่า 1,149 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในปี 2565 ซึ่งการดำเนินงานประกอบด้วย การติดตั้ง smart meter และการใช้เทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลและสถานะของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบได้แบบสองทาง มีคุณสมบัติในการ monitor และแสดงผลได้ทันที ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า และเก็บข้อมูลพร้อมบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก smart meter ทั้งปัจจุบันและย้อนหลังเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบแล้ว ยังสามารถหาสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น และสามารถตรวจสอบการลักลอบใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ละเอียดและเที่ยงตรงจาก smart meter จะถูกนำมาวิเคราะห์ว่าระบบไฟฟ้าอาจจะมีปัญหาที่พื้นที่ใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงนำมาใช้ในการวางแผนระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับระบบไฟฟ้าในอนาคตที่มีความซับซ้อน และสอดรับกับแผนพัฒนา smart city ของรัฐบาล

            ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่จึงเร่งดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อระบบไฟฟ้ามีความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย พัฒนาเป็นมหานครอัจฉริยะ Smart Metro และเนื่องด้วยโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินเป็นโครงการสำคัญ มีแผนงานขั้นตอนรายละเอียดในการก่อสร้างมาก ในครั้งนี้จึงเชิญผู้บริหารและผู้แทนของบริษัทผู้รับจ้างทุกบริษัทเข้าร่วมประชุม เพื่อส่งมอบนโยบายพร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงาน รวมถึงการดำเนินงานอาจมีผลกระทบกับประชาชน จึงต้องขอให้แต่ละบริษัทเข้มงวดในการก่อสร้างตามแผนงานและวิธีการที่ MEA กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไข เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น MEA จึงขอความร่วมมือจากบริษัทผู้รับจ้างให้เน้นย้ำในเรื่องการดูแลตรวจสอบความเรียบร้อยและความปลอดภัย ให้มีผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ ภาพรวมโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ MEA ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ระยะทาง 167 กิโลเมตร แบ่งเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ระยะทาง 128.2 กิโลเมตร ได้แก่ โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการรัชดาภิเษก-อโศก โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการถนนวิทยุ โครงการพระราม 4 โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน โครงการอังรีดูนังต์ โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (พหลโยธิน) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม (รามคำแหง สัญญาที่ 3) โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู มูลค่าสัญญารวมกว่า 24,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ อยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง ระยะทาง 38.8 กม. คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในปี 2563