กปภ.พัฒนาคุณภาพน้ำประปา ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

การประปาส่วนภูมิภาค หรือ กปภ. ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU)กับกรมอนามัยว่าด้วย การส่งเสริมความเชื่อมั่นคุณภาพน้ำประปา

นายสมชาย มนต์บุรีนนท์ รองผู้ว่าการรักษาการแทนผู้ว่าการกปภ.เปิดเผยว่ากปภ.และกรมอนามัยได้ร่วมกันตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาภายใต้โครงการน้ำประปาดื่มได้มาอย่างต่อเนื่อง 16 ปีเพื่อให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภคน้ำประปาที่สะอาดได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ กปภ.ยังได้ดำเนินโครงการจัดการน้ำสะอาดเพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิตน้ำสะอาดของสถานผลิตน้ำประปาของ กปภ.ทั่วประเทศ ป้องกันและกำจัดการปนเปื้อนทั้งในแหล่งน้ำดิบ ระบบสูบส่งและจ่ายน้ำให้แก่ประชาชน ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญ

ปัจจุบัน กปภ.มีสถานีผลิตน้ำประปารวม 799 สถานีและอาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ รวม 31แห่งภายใต้การกำกับดูแลของ กปภ.234สาขาทั่วประเทศ

ล่าสุด กปภ.ดำเนินโครงการส่งเสริมความเชื่อมั่นคุณภาพน้ำประปา ภายใต้แนวคิดน้ำคือชีวิตแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2561ยืนยันกระบวนการผลิตน้ำประปาและกระบวนการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาของ กปภ. โดยมีกรมอนามัยร่วมตรวจสอบอย่างเป็นระบบ

ระยะที่ 2 ปี 2562 เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยให้บริการตรวจสอบระบบประปาและตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาแก่ อบต.รอบรั้วที่เข้าร่วมโครงการฯโดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาหลักเกณฑ์ มาตรฐานทางวิชาการ เพื่อให้น้ำประปามีคุณภาพมาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพน้ำประปาให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน

รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ.เปิดเผยเพิ่มเติมว่าในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูร้อน เป็นเวลาที่มักเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ กปภ. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทยมีภารกิจหลักในการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาให้บริการประชาชน 74 จังหวัด ยกเว้น กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ จะต้องวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่จัดสรรไว้สำหรับเป็นน้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคของประชาชนตลอดช่วงฤดูกาลที่ไม่มีฝนตก การได้รับความมือจากทุกๆคนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อย่างประหยัด จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้มีทรัพยากรน้ำใช้ไปอีกยาวนานขึ้น การเลือกใช้อุปกรณ์และสุขภัณฑ์ที่ประหยัดน้ำก็จะช่วยให้การประหยัดน้ำมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น ลักษณะของก๊อกน้ำที่ประหยัดน้ำซึ่งส่วนใหญ่จะมีตะแกรงกรองน้ำ โดยจะเป็นส่วนหัวที่ติดอยู่กับปลายก๊อก มีหน้าที่เพิ่มฟองอากาศให้กับน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลออกมานั้นนุ่มฟูมากขึ้น หรือเลือกใช้ก๊อกน้ำแบบก้านโยกจะสิ้นเปลืองน้ำน้อยกว่าก๊อกน้ำเปิด-ปิดแบบหมุน เพราะสามารถควบคุมน้ำได้แม่นยำกว่า

สำหรับลักษณะของฝักบัวประหยัดน้ำก็เช่นเดียวกับก๊อกน้ำ จะมีฟองอากาศผสมอยู่ในน้ำที่ออกมา โดยอาศัยหลักการดูดอากาศให้เข้าไปผสมกับน้ำผ่านช่องขนาดเล็กบริเวณหัวฝักบัว นอกจากนี้หากรูปล่อยน้ำมีขนาดเล็ก  ก็จะช่วยให้ประหยัดน้ำมากยิ่งขึ้น ส่วนโถสุขภัณฑ์รุ่นประหยัดน้ำควรใช้น้ำในการชำระล้างครั้งละไม่เกิน 6 ลิตร เป็นต้น

นอกจากนั้น การเลือกใช้อุปกรณ์หรือสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำที่มีมาตรฐานฉลากเขียวจากการกำกับของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับรองมาตรฐานการใช้น้ำอย่างประหยัดได้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าและร่วมกันใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำที่ได้รับฉลากเขียวประหยัดน้ำ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการใส่ใจและรักษาสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด SAVE WATER…YOU MAKE IT

ทั้งนี้ ควรสอบถามข้อมูลจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ และควรตรวจสอบดูแลระบบประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีไม่มีท่อแตกชำรุด ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดการสูญเสียน้ำโดยเปล่าประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย