ครบรอบ 40 ปี ทอท.พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เร่งโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 ให้เสร็จตามเป้า คาดปี 62 รายได้ขยับ 10เปอร์เซ็นต์ มองทะลุปี 63 โตแบบก้าวกระโดดหลังขยายการลงทุนธุรกิจที่ไม่ใช่การบินมากขึ้น

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ดำเนินธุรกิจท่าอากาศยานของประเทศไทย มากว่า 40 ปี โดยมีท่าอากาศยานในความรับผิดชอบ 6 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งนี้ ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยความคืบหน้าโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ปีงบประมาณ 2554-2560)(ระยะ2) ขณะนี้คืบหน้าเกือบจะครึ่งทางแล้วซึ่งมีความล่าช้าอยู่ เดิมทีทอท.คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในช่วงกลางปี 2563 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปลายปี 2563

โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1 (ชั้นใต้ดิน) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ 12,050 ล้านบาท  2.อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1(ชั้น 2-4) และระบบย่อยส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ 14,235 ล้านบาท 3.อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออกวงเงิน 970 ล้านบาท ตามแผนจะเสร็จในเดือน พ.ย. ปี 2563 4.ส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตกกว่า 6,000 ล้านบาทคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ย.นี้ ตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2565 5.ระบบสาธารณูปโภค1,980 ล้านบาทของกลุ่มเอสจี แอนด์ อินเตอร์ลิ้งค์ 6.ติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ(APM) 2,999 ล้านบาท จะเสร็จในเม.ย. ปี 2563 จะมีรถบริการ 6 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รวม 12 ตู้ วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. รับส่งผู้โดยสารอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 กับอาคารผู้โดยสารปัจจุบัน รับผู้โดยสารได้ 210 คนต่อขบวน หรือ 6,000 คนต่อชั่วโมง 7.ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดขาออก 3,646 ล้านบาท ของกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงานล็อกซเล่ย์-แอลพีเอส และ 8.ติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และระบบตรวจจับวัตถุระเบิดขาเข้า วงเงิน 2,800 ล้านบาท เสร็จตามแผนจะเสร็จในเดือน ก.พ. ปี 2564

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้โดยสารที่คาดขยายตัว 6-7 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้โดยสารต่างชาติจะเติบโตอย่างมาก ซึ่งช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (ต.ค. 61-ก.พ. 62) จำนวนผู้โดยสารเติบโตประมาณ 3.5เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตามในปีนี้ ทอท.จะมีรายได้จากธุรกิจคาร์โก้เพิ่มเข้ามาเป็นปีแรก หลังจากที่บริษัทจะเป็นผู้ดำเนินกิจการเอง โดยจะจัดตั้งบริษัทลูกที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้รับการรับรอง ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนระหว่าง ทอท. กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เทรดดิ้ง จำกัด

ล่าสุดได้เปิดตัวแอปพลิเคชันรองรับบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เชื่อมทั้งการเดินทางและธุรกิจคาร์โก้ ซึ่งธุรกิจใหม่ที่ ทอท.เริ่มดำเนินการในปีนี้จะรับรู้เต็มปีในปี 2562/2563 ทำให้คาดว่ารายได้จะเติบโตก้าวกระโดดมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เพราะจะมีรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน สัดส่วนเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันมีสัดส่วน 45 เปอร์เซ็นต์

ส่วนปีงบประมาณ 2563 คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก (Non-Core) ที่มาจากการให้บริการธุรกิจเกี่ยวเนื่องบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ธุรกิจคาร์โก้ และ ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้รับการรับรอง

โดยบริษัทจะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหาร Certified Hub โดยเป็นการร่วมทุนกับ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และบริษัทเทรดดิ้ง รวมทั้งจะมีการเปิดบริการ 4 สนามบิน ได้แก่ อุดรธานี, สกลนคร, ชุมพร และตาก ที่รับโอนมาจาก กรมท่าอากาศยานในช่วงได้ต้นปี 2563 และสัดส่วนรายได้บริษัทจะมาจาก Non-Core จะเพิ่มขึ้นจาก 45เปอร์เซ็นต์ เป็น 50 เปอร์เซ็นต์ และในระยะยาวจะเพิ่มสูงกว่ารายได้จากธุรกิจการบินแน่นอน