ธนาคารออมสินครองแชมป์ธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2560

ธนาคารออมสินครองแชมป์ธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2560 Best Retail Bank of the Year 2017 นั่งแท่นเป็นธนาคารที่ผู้เข้าชมงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 17 Money Expo 2017 ชื่นชอบและตัดสินใจเลือกใช้บริการ มากที่สุด จากผลโหวตของสวนดุสิตโพลร่วมกับการเงินธนาคาร โดยเป็นการครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมิถุนายน 2560 เผยผลการสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าชมงานมหกรรมการเงินครั้งที่ 17 Money Expo 2017 ที่ วารสารการเงินธนาคารจัดขึ้น โดยการจัดอันดับดังกล่าว วารสารการเงินธนาคารได้รับความร่วมมือจากสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้เข้าชมงาน Money Expo 2017 ซึ่งผลปรากฏว่า ธนาคารออมสิน เป็นธนาคารที่ผู้เข้าชมงาน Money Expo 2017 ชื่นชอบและตัดสินใจเลือกใช้บริการมากที่สุด

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินมีบริการที่หลากหลาย มีแคมเปญโปรโมชั่นที่ตรงกับความต้องการอัตราดอกเบี้ยจูงใจมีการให้เงื่อนไขที่ดี ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก พนักงานในบูธอัธยาศัยดีให้บริการเป็นกันเอง ดูแลเอาใจใส่ให้ข้อมูลดี รวมถึงเป็นสถาบันการเงินที่มีความน่าเชื่อถือ จึงมีความมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยที่ใช้บริการ  ปีนี้ธนาคารออมสินมุ่งมั่นสู่ศตวรรษใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืนพร้อมก้าวสู่การเป็น Digi-Thai Banking ผู้นำนวัตกรรมทางการเงินและสังคมยุคใหม่ภายใต้แนวคิด GSB New Century “Integrated Solutions for Digital Life…Digital Banking and Economy 4.0, Simply make it happens ใช้ชีวิตง่ายขึ้นกับออมสินยุคใหม่เชื่อมโลกดิจิทัลทางการเงินสู่ยุค 4.0

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า จากภาพรวมบรรยากาศเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่เติบโตได้เป็นที่น่าพอใจเป็นผลมาจากการขยายตัวด้านการส่งออกในเดือนมีนาคมที่สูงถึง 9.22 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้เติบโต 4.92 เปอร์เซ็นต์ โดยหากตัวเลขการส่งออกที่ขยายตัวด้วยระดับ 4 เปอร์เซ็นต์ ได้ตลอดทั้งปี และภาคการบริโภค การลงทุนและภาครัฐร่วมกันขับเคลื่อนย่อมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม การเติบโตด้านตัวเลขการส่งออกดังกล่าว เป็นผลมาจากแรงหนุนของราคาพืชผลทางเกษตร เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าในกลุ่มโภคภัณฑ์และราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องบางส่วน แต่ไม่ได้เกิดจากการเติบโตของอุปสงค์ภายนอกที่แท้จริง ดังนั้น หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ตามเป้าหมาย ภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจจะต้องช่วยกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐที่ต้องเป็นหัวหอกในการผลักดันนโยบายการลงทุนในโครงการต่างๆ ให้เห็นภาพชัดเจนและเป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ ภาครัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและ โลจิสติกส์ ตลอดจนการลงทุนในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทางภาคตะวันออก หรือ EEC อันจะเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นและเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียน

ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร นิด้า กล่าวว่า หากภาครัฐเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังและโครงการลงทุนต่างๆ ในเขต EEC ที่เน้นการจัดลำดับความสำคัญของโครงการอย่างเหมาะสม โดยเลือกโครงการที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด มาดำเนินการในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะออกดำเนินการเป็นชุดโครงการ เพื่อหวังอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมด้วยการขอความร่วมมือกับภาคการเงิน เพื่อใช้เป็นกลไกของนโยบายทางการเงินช่วยดึงดูดภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนอย่างจริงจัง อันจะทำให้เกิดการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามมาเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้จริงจากการลงทุนและกำลังซื้อภายในประเทศ ส่งผลดีต่อผลเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะทำให้ GDP ของไทยปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์