การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบ 4 ทศวรรษ เปิดภารกิจเร่งด่วนแก้ปัญหาจราจร เชื่อมโยงระบบคมนาคมอย่างบูรณาการ

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ครบรอบ 4 ทศวรรษ พัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษ เชื่อมโยงระบบคมนาคมอย่างบูรณาการ บริหารงานด้วยความโปร่งใสตอกย้ำด้วยรางวัล Sustainability Disclosure Recognition องค์กรที่เปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนต่อสาธารณะ

            นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการกทพ. เปิดเผยว่า 48 ปี ก้าวสู้ปีที่ 49 กทพ. ได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นในการพัฒนาเครือข่ายระบบทางพิเศษให้เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน

ปัจจุบันการทางพิเศษฯ ได้เปิดให้บริการทางพิเศษรวม 8 สายทาง รวมระยะทาง 224.60 กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษฉลองรัช ทางพิเศษบูรพาวิถี ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษสายศรีรัช – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือว่าเป็นระยะทางให้บริการที่น้อยและยังไม่ตอบสนองการเดินทางของประชาชนได้เท่าที่ควร ดังนั้นการเร่งขยายเส้นทางให้ครอบคลุมมากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ กทพ. จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน

ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวน รอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งจะเป็นโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงจากจังหวัดในภาคใต้ให้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565

นอกจากนี้ กทพ. ยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากสรุปผลการศึกษาความเหมาะสม คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 1 ปี ก่อสร้าง 2 ปี และจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 มีวงเงินลงทุน เบื้องต้นประมาณ 1,600 ล้านบาท

ผู้ว่าการกทพ. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศรวมถึงโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

กทพ.มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาจราจร รวมถึงลดการสูญเสียพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะนำระบบกล้องอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ ที่เชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกมาใช้ร่วมกับระบบชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และบูรณาการทำงาน ในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน (Single Platform System) โดยจะนำร่องใช้งานระบบ M-Flow ในโครงการทางพิเศษฉลองรัชและด่านฯ ที่เป็นจุดรองรับการจราจรทิศทางขาเข้าเมือง ที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น อาทิ ด่านฯ บางนา กม.6 ขาเข้า ด่านฯ ดาวคะนอง ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการระบบ M-Flow ในระยะแรกที่ด่านฯ จตุโชติ ด่านฯ สุขาภิบาล 5-1 และด่านฯ รามอินทรา ของทางพิเศษฉลองรัชในราวเดือนกรกฎาคม 2564 รวมถึงนำไปใช้กับทางพิเศษที่การทางพิเศษฯ กำลังดำเนินการก่อสร้างคือ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางพิเศษฉลองรัช – นครนายก -สระบุรี